สมุนไพรไทย ความรู้เพื่อการรักษาโรค สุขภาพดีด้วยการเรียนรู้ ลักษณะของพืช คุณค่าทางโภชนาการ สรรพคุณและโทษ ชนิด ประเภท หมวดหมู่ เน้นการเพื่อการดูแลตนเอง
ความหมายของสมุนไพร
สมุนไพร คือ พืช สัตว์ แร่ธาตุ เพื่อบำบัดโรคหรือบำรุงร่างกาย ตามตำรับยาแผนโบราณ พืชสมุนไพร พืชสำหรับรักษาโรค สมุนไพรไทย ประโยชน์หลากหลาย และ โทษของสมุนไพร
สมุนไพรไทย หมายถึง พืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ พืชที่ใช้ทำเป็นยา สมุนไพรไทย กำเนิดมาจากธรรมชาติและ มีความหมายต่อชีวิตมนุษย์ ด้านสุขภาพ หากคิดถึง พืชสมุนไพร พืชรักษาโรค ก็คือการรักษาโรคด้วยสมุนไพร
คำว่า สมุนไพร จาก เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา หมายถึง พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ คำว่า สมุนไพร เมื่อประกอบกับคำว่า ยา เป็น ยาสมุนไพร มีความหมายตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ว่า ยาที่ได้จากพืช สัตว์ หรือ แร่ธาตุ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ ยาสมุนไพร ส่วนใหญ่มาจากพืช หรือ ส่วนของพืช เช่น ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เป็นต้น ปัจจุบันมีรายการสมุนไพรไทยที่ขึ้นบัญชีเป็นยาหลักแห่งชาติแล้ว มีเกือบ 100 ชนิด
สรุปแล้ว สมุนไพร หมายถึง ยารักษาโรคที่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น พืช สัตว์ และ แร่ธาตุจากธรรมชาติที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ ประเภทของสมุนไพร สามารถแบ่งได้หลายชนิดตามลักษณะของสมุนไพร
สมุนไพรกับสังคมไทย
ความรู้ทางการแพทย์และการรักษาโรคด้วยสมุนไพร มีการใช้มาตั้งแต่อดีตอย่างยาวนาน มีตำราทางการแพทย์โบราณมากมายใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ทั้ง ตำรายากรีก ตำรายาอินเดีย ตำรายาจีน นอกจาก การศึกษาวิจัยทางการแพทย์จากอดีตจนถึงปัจจุบันก้ยังใช้สมุนไพรในการรักษาโรคอยู่
ประเทศไทยมีสมุนไพรเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสมุนไพร อีกทั้งการปลูกสมุนไพรมีคุณภาพต่ำลง เพราะเกษตรกรยังไม่รู้วิธีการเลือกสายพันธุ์ วิธีการปลูกที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ จึงต้องเร่งรัดส่งเสริมด้านการผลิตสมุนไพรทั้งระบบ ซึ่งการดำเนินงานจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลอภัยภูเบศร ฯลฯ โดยเบื้องต้นจะร่วมกับกรมป่าไม้ในการจัดพื้นที่ปลอดสารเคมีในป่าชุมชน ให้ทำการเพาะปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6,000 ไร่ ในระยะ 2 ปี และจะส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนอาชีพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2560 มาตรา 55 ว่าด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยในการบริการสุขภาพ โดยบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาส และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาตรา 69 ว่าด้วยเรื่อง การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับ ประเทศ และการสร้างนวัตกรรมยาสมุนไพรก็นับเป็นโอกาสทองของคนไทย
รูปแบบของสมุนไพร
สมุนไพรต่างๆนั้น มาจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เช่น พืช สัตว์ และ แร่ธาตุ ซึ่งลักษณะการใช้ประโยชน์นั้นมักไม่นำมาใช้ประโยชน์แบบสดๆตามลักษณะของวัตถุดิบนั้น จะต้องมีการนำมาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ของแหว ของแข็ง กึ่งของเหลวกึ่งของแข็ง และ รูปแบบการอบไอน้ำหรือรมควัน รูปแบบของสมุนไพรต่างๆที่กล่าวมานั้น มีรายละเอียด ดังนี้
- สมุนไพรในรูปแบบของเหลว ลักษณะของการนำสมุนไพรต่างๆ มาต้ม ตากแห้งและบดเป็นผงเพื่อใช้ชงเป็นน้ำดื่ม นำสมุนไพรมาดองกับเหล้า รวมถึงการผสมสมุนไพรกับน้ำและคั้นสดๆ
- สมุนไพรรูปแบบของแข็ง เป็นลักษณะของการนำสมุนไพร มาตากแห้งจากนั้นนำมาบดเป็นผง และ ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลมๆ นำมารับประทานเป็นยาเม็ด
- สมุนไพรรูปแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลว เป็นลักษณะของสมุนไพรที่ใช้การพอก คือ นำสมุนไพรสดๆมาตำให้แหลก และ นำมาพอกแผล
- สมุนไพรรูปอบไอน้ำหรือรมควัน จะเป็นลักษณะพิเศษ เช่น การต้มเพื่อใช้ไอน้ำจากสมุนไพร การเผาเพื่อรมควันสมุนไพร การนำสมุนไพรมาห่อในผ้านึ่งให้ร้อนและนำมาประคบกาย เป็นต้น ลักษณะนี้ใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และ การอยู่ไฟในสตรี หลังการคลอดบุตร
หลักการใช้สมุนไพร
สำหรับการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษาโรคนั้น มีหลักในการใช้สมุนไพร มีดังนี้
- มีโรคหลายโรคที่ยังไม่สามารถพิสูจน์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ว่าการรักษาด้วยสมุนไพรไม่ได้ผล เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด โรคบาดทะยัก กระดูกหัก วัณโรค โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ลักษณะอาการต่างๆที่มีความรุนแรงที่ต้องนำตัวส่งแพทย์ด่วน ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพร เช่น อาการไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ตกเลือดจากช่องคลอด หมดสติ เป็นต้น
- การสมุนไพรเพื่อการรักษาโรค ต้องรักษาให้ถูกส่วน ถูกวิธี และ รักษาอย่างถูกโรค
- สมุนไพรหากเก็บไว้นานเกินไป สรรพคุณทางยารักษาโรคสามารถเสื่อมสภาพได้ ไม่ควรเก็บสมุนไพรไว้นานเกินไป
- หากใช้สมุนไพรรักษาโรค และ เกิดอาการแพ้ต่างๆ ให้หยุดการใช้สมุนไพรทันที
โทษของสมุนไพร
สำหรับการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรเพื่อการรักษาโรคนั้น เป็นดาบสองคม คือ มีทั้งประโยชน์และโทษ การใช้สมุนไพรควรจะต้องระมัดระวัง คือ ต้องใช้อย่างถูกต้อง และ ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดโทษ ซึ่งอันตรายจากการใช้สมุนไพร มีข้อควรระวังดังนี้
- การใช้สมุนไพรสำหรับโรคที่อันตรายหากขาดการรักษา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหืดหอบ โรคเหล่านี้การแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การใช้สมุนไพรรักษาเพียงช่องทางเดียว อาจทำให้อาการป่วยกำเริบหนักมากขึ้น เนื่องจากโรคเหล่านี้ใช้สมุนไพรรักษาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- สมุนไพรหลายชนิดมีพิษ การนำสมุนไพรมาใช้ให้สกัดนำพิษออกก่อน ดังนั้นความเข้าใจในสมุนไพรต่างๆจึงมีความจำเป็น เช่น ผลมะเกลือ มีสรรพคุณในการขับถ่ายพยาธิ แต่ในตำรับแนะนำให้ใช้ผลมะเกลือสดตำคั้นผสมกะทิ แต่ผลมะเกลือแก่ที่ดำมีความเป็นพิษ ทำให้มีไข้ อาเจียน ท้องเดิน และ ทำลายประสาทตา เนื่องจากผลมะเกลือที่แก่เต็มที่ มีสาร nepthalene ซึ่งมีความเป็นพิษ การใช้ผลมะเกลือจึงต้องใช้ผลมะเกลือสด การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรต้องมีความเข้าใจอย่างแท้จริงจึงจะไม้เกิดโทษ
- สมุนไพรอาจมีสารเจือปน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการตรวจวิเคราะห์สมุนไพร เพื่อจะหาสารเจือปน หลายร้อยรายการ พบว่ามี arsenic ร้อยละ 60 มีร้อยละ 30 มีสารsteroids นอกจากนั้น อาจมีสารปรอทและสารตะกั่ว ปนเปื้อนด้วย
หมวดหมู่ของสมุนไพร
การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์นั้น มีหลากหลาย ซึ่งเราได้แยกสมุนไพรต่างๆ แยกตามสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดหมวดหมู่ของสมุนไพร มีรายละเอียด ดังนี้
รายชื่อสมุนไพรและข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพร
เราได้รวบรวมความรู้ต่างๆเกี่ยวกับสมุนไพร ประกอบด้วย ลัักษณะของสมุนไพร คุณค่าทางโภชนาการของสมุนไพร สรรพคุณของสมุนไพร และ โทษของสมุนไพร นั้นๆ โดยรายละเอียด ดังนี้
ปัญหาการใช้ยาของคนไทย
นิสัยในการใช้ยาของคนไทยในปัจจุบัน คนไทยบริโภคยาอย่างฟุ่มเฟือยและไม่เหมาะสมเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และ เป็นปัญหาเดียวกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถูกใช้ไปกับการบริโภคยาและประมาณ 1 ใน 3ของมูลค่าการบริโภคดังกล่าว เกิดจากพฤติกรรมการรักษาตนเองของประชาชน
ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมหลายชนิด ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กระทบถึงความสิ้นเปลืองและความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจเชิงมหภาค การป้องกันหรือวิธีการลดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรและสภาวิชาชีพทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์
การให้ความรู้ด้านยาที่ถูกต้องและวิธีการรับรู้ข่าวสารต้องไปถึงยังกลุ่มเป้าหมายในชนบท ควรทบทวนหรือปรับปรุงการขายยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาครัฐและสภาวิชาชีพทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์ต้องส่งเสริมให้ร้านขายยาที่มีเภสัชกรมีบทบาทและสามารถให้ความรู้กับประชาชนได้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยประชาชนไม่ต้องร่วมจ่ายในค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนจำนวนมาใช้บริการมากขึ้นเกินความจำเป็น ซึ่งภาครัฐต้องแบกรับภาระมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในด้านการซื้อยากินเองของคนไทยยังคงมีอยู่โดยเฉพาะในชนบท ยังมียาในร้านขายของชำและร้านเร่ ซึ่งทำให้มีการใช้ยาที่ผิด การรักษาตนเองของชาวบ้านมีสาเหตุหลายอย่างเช่นการไปพบแพทย์ต้องเสียเวลามาก จำเป็นต้องทำ งานเก็บเกี่ยวหยุดไม้ได้ เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาจะต้องประกอบกันหลายด้านทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเป็นพื้นฐานให้เกิดการอุปนิสัยการใช้ยาเองในคนไทย
สรุป
สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคนั้น จำเป็นต้องได้รับการใช้งานอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเองและนำเอาไปใช้ประโยชน์ โดยขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงทำให้เกิดโทษอย่างร้ายแรง คำแนะนำก่อนใช้สมุนไพรรักษาโรคควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน