ผักกระเดียง ปอผี สมุนไพรไทย พร้อม 6 สรรพคุณรักษาโรค

ผักกระเดียง เรียกอีกชื่อว่า ปอผี นำมาใช้เป็นสมุนไพรต่างๆได้ สรรพคุณรักษาแผล แผลพุพอง แผลอักเสบ ฆ่าเชื้อโรคได้ ทำความรู้จักกับพืชมหัศจรรย์ ยอดอ่อนกินบำรุงน้ำนม

ปอผี ผักกระเดียง สมุนไพร

ปอผี หรือ ผักกระเดียง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hydrolea zeylanica (L.) Vahl สำหรับชื่อเรียกอื่นๆของผักกระเดียง (ปอผี) เช่น บีปลาไหล ไส้เอี่ยน บีเอี่ยน ปอผี ผักกระเดียง ดีปลาไหล สะเดาดิน เป็นต้น ต้นปอผี ยอดอ่อนของปอผีสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้ นิยมรับประทานกับน้ำพริก รสขมอ่อน ๆ สรรพคุณบำรุงน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่

ต้นปอผี หรือ ผักกะเดียง เป็นพืชล้มลุก สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน เช่น อินเดีย ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในทวีปออสเตรเลีย ต้นปอผีจะเลื้อยไปตามพื้นดินและแตกแขนงชูยอดขึ้นสูง ความสูงของต้นประมาณ 1 เมตร

ลักษณะของต้นปอผี

ต้นปอผี เป็นพืชล้มลุก ชอบขึ้นบริเวณที่ชื้นแฉะ บนดินชื้นและมีน้ำขัง ตามนาข้าว หนองน้ำ ริมหนองน้ำ หรือขึ้นแผ่คลุมผิวน้ำ สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตร สามารถขยายพันธ์โดยการเพาะเมล็ดพันธ์ ซึ่งลักษณะของต้นปอผี มีดังนี้

  • ลำต้นปอผี ลักษณะกลมและแข็ง มีรากออกตามข้อ ลำต้นเรียบหรือมีขนนุ่ม ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกแขนงมาก ชูยอดตั้งขึ้น ความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร
  • ใบปอผี เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับตามก้านใบ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกถึงรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ขนาดของใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร
  • ดอกปอผี ลักษณะดอกเป็นช่อ แบบช่อกระจะแยกแขนง ดอกออกตามซอกใบและปลายยอด กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก มีขนนุ่ม กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินอมม่วง กลางดอกเป็นสีขาว อับเรณูเป็นสีแดงเข้ม ออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
  • ผลปอผี เป็นผลแห้ง ลักษณะทรงรี ห่อด้วยกลีบรองดอก ภายในมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก

สรรพคุณของปอผี

สำหรับการใช้ประโยชน์จากปอผีด้านการบำรุงร่างกายและการรักษาโรค สามารถใช้ประโยชน์จากทั้งต้น ลำต้น และใบ ซึ่งสรรพคุณของปอผี มีดังนี้

  • ทั้งต้นปอผี นำมามาต้ม สรรพคุณรักษาโรคตาฟาง
  • ลำต้นปอผี สรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงตับ รักษาโรคมาลาเรีย และแก้เบาหวาน บำรุงน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอด
  • ใบของต้นปอผี สรรพคุณรักษาลำไส้ผิดปกติ ช่วยสมานแผล เป็นยาฆ่าเชื้อ

โทษของปอผี

การรับประทานปอผีเป็นอาหารหากรับประทานมากเกินไปสำหรับสตรีหลังคลอด อาจทำให้น้ำนมขมได้

อ้างอิง

  • ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ผักกะเดียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [24 ก.ย. 2015].
  • ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ปอผี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [23 ก.ย. 2015].
  • ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักกระเดียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [23 ก.ย. 2015].
  • กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “ดีปลาไหล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.fisheries.go.th.  [23 ก.ย. 2015].

Beezab.com แหล่งความรู้ด้านสุขภาพ สมุนไพร (แบ่งตามสรรพคุณรักษาโรคของสมุนไพร) โรค (แบ่งต่ามอาการป่วยของอวัยวะต่างๆ) แม่และเด็ก อาหารเพื่อสุขภาพ โยคะ ธรรมะครูบาอาจารย์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลการดูแลตัวเองเบื้องต้น ข้อมูลดีๆในเว็ยไซต์แห่งนี้เนื้อหามีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเท่านั้น เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แทนคำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือ การรักษาโรคแต่อย่างใด หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย ควรคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดูที่ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของเรา

Last Updated on March 12, 2024