ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดกระดูก กระดูกมือเท้าผิดรูป พิการได้

รูมาตอยด์ เยื่อหุ้มข้อกระดูกอักเสบเรื้อรัง ทำให้นิ้วมือนิ้วเท้าผิดรูป ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค หากไม่รักษาทำให้พิการได้ รักษาได้ด้วยยา ผ่าตัด กายภาพบำบัดข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบ โรคไม่ติดต่อ โรคกระดูก

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ( rheumatoid arthritis ) คือ ภาวะเยื่อหุ้มข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นโรคในกลุ่มภูมิต้านตนเอง มีอาการอักเสบอย่างรุนแรงที่ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า หากไม่รักษาทำให้พิการได้ เนื่องจากเยื่อบุข้อเจริญงอกงามอย่างมาก จนลุกลามและทำลายกระดูก และ ข้อต่อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พบมากในกลุ่มคนสองช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 20 ถึง 30 ปี ( พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ) และ 50 ถึง 60 ปี ( พบได้ในทั้งเพศชายและหญิงเท่าๆกัน)

สาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์

สาเหตุของโรคการเกิดโรครูมาตอยด์ ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดได้ แต่พบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อบางชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส นอกจากนี้ความผิดปรกติของฮอร์โมนในร่างกายก็อาจเป็นสาเหตุได้

อาการของโรครูมาตอยด์

สำหรับอาการป่วยของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ จะแสดงอาการเริ่มต้นด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร จากนั้นจะปวดข้ออย่างรุนแรงจะตามมา โดยเฉพาะข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า รวมถึงมีอาการปวดที่ข้อกระดูกใหญ่ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ซึ่งอาการปวดจะปวดในขณะที่ข้อกระดูกไม่ได้ใช้งาน เช่น ปวดกระดูกหลังตื่นอน ปวดกระดูกกลางดึก หรือ ปวดกระดูกขณะพักผ่อนอยู่เฉยๆ แม้กินยาแก้ปวดอาการปวดก็ไม่หาย

ลักษณะการผิดรูปร่างของข้อที่พบ มีหลายลักษณะแตกต่างกันตามจุดที่เกิด มีรายละเอียดดังนี้

  • หากเกิดที่ข้อนิ้วมือและข้อมือ จะมีการผิดรูป 3 แบบ คือ แบบรูปร่างคล้ายตัวหนังสือ Z เรียก Z deformity แบบคอห่าน เรียก Swan neck deformity และ แบบข้อนิ้วมือส่วนต้นงอเข้าหาฝ่ามือ เรียก Boutonniere deformity
  • การเกิดที่ข้อมือ จะทำให้ข้อมือขยับไม่ได้ และพังผืดจะเกิดรอบๆข้อ และไปกดทับเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ปวดและชาที่มือและกล้ามเนื้อมือ
  • การเกิดที่ข้อเท้า และ ข้อนิ้วเท้า ทำให้พิการถึงขั้นเดินไม่ได้
  • การเกิดที่ข้อศอก จะทำให้ข้อศอกหด และ งอ ทำให้ยืดข้อศอกไม่ได้
  • การเกิดที่ข้อเข่า จะทำให้เข่าหดงอ ส่งผลกระทบต่อการเดิน
  • การเกิดทั้ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจส่งผลให้กระดูกเลื่อนหลุด และไปกดเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการปวดและชา แขนอ่อนแรง เป็นอัมพาตได้

การรักษาโรครูมาตอยด์

สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคนี้สามารถกลับมาเป็นอีกครั้งได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อ และพบแพทย์เป็นระยะๆ โดยแนวทางการรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์  สามารถทำได้โดยการบรรเทาอาการของโรค ร่วมด้วยการผ่าตัดและการทำกายภาพบำบัดร่วม โดยรายละเอียดของการรักษาโรค มีดังนี้

  • การใช้ยารักษา เพื่อบรรเทาอาการของโรค เช่น การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ การให้ยาแก้อักเสบ และ การให้ยายับยั้งข้ออักเสบ
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันกระดูกผิดรูป โดยวิธีการประคบร้อน แช่น้ำอุ่น ให้ผู้ป่วยขยับตัวให้มาก เพื่อป้องกันข้อแข็งและผิดรูป
  • การฝ่าตัด ทำเพื่อเลาะเยื่อบุข้อกระดูกที่การอักเสบ ผ่าตัดซ่อมแซมเชื่อมข้อติดกัน ผ่าตัดกระดูกปรับแนวข้อกระดูกให้ตรง หรือใส่ข้อเทียม แต่การผ่าตัดนั้นเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เพื่อบรรเทาอาการของโรครูมาตอยด์ เท่านั้น

การป้องกันการเกิดโรครูมาดอยด์

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด การป้องกันจากสาเหตุของโรคจึงเป็นเรื่องยาก การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคที่ดี แนวทางการป้องกันโรครูมาตอยด์ มีดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์มาตราฐาน
  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงกิจกรรมที่ทำลายข้อ เช่น ยกของหนัก กระโดด นั่งยองๆ เป็นต้น

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เยื่อหุ้มข้ออักเสบเรื้อรัง ทำให้นิ้วมือนิ้วเท้าผิดรูป ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน หากไม่รักษาทำให้พิการได้ สามารถรักษาได้ด้วยยา การผ่าตัด และ ทำกายภาพบำบัด

Last Updated on March 17, 2021