หัวใจวาย ( Heart Failure ) กล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงานตามปรกติ เกิดกับผู้สูงวัยและคนเครียด อาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ หน้ามืด ใจสั่น
โรคหัวใจวาย ภาษาอังกฤษ เรียก Heart Failure ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ ภาวะหัวใจวาย โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ การเกิดหัวใจล้มเหลว เกิดจากภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ตามปรกติ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง จะมีอาการที่เป็นสัญญาณ เช่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
โรคหัวใจล้มเหลว สามารถเกิดขึ้นได้กับ คนทุกวัย ทุกชาติ ทุกศาสนา และทุกเพศ ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคนี้จะแตกต่างกันไป จากสถิติพบว่าร้อยละ 3 ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเป็นโรคหัวใจ และร้อยละ 30 ของคนอายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ แต่สาเหตุของการเกิดจะแตกต่างกันไป โดยรวมแล้ว ยิ่งอายุมากขึ้นจะพบได้มากขึ้น โดยในภาพรวมในประเทศที่กำลังพัฒนา พบความชุกของภาวะหัวใจล้มเหลวได้ประมาณ 2 – 3% ของประชากรทั้งหมด แต่หากอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป จะพบความชุกของภาวะนี้ได้ 20 – 30%
สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
อาจเป็นสาเหตุจากการ เป็นผลข้างเคียงของโรคอื่น เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากโรคต่างๆ เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ก็เป็นสาเหตุของโรคหัวใจวายได้
- โรคหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
- โรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Dilated cardiomyopathy
- โรคลิ้นหัวใจต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ
- โรคความดันโลหิตสูง
- สาเหตุอื่นๆที่พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การได้รับยาหรือสารบางประ เภทเกินขนาด เช่น โคเคน แอลกอฮอล์ การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคที่มีโปรตีนชื่อ Amyloid เข้าไปสะสมที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Amyloidosis) เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจวาย
เราสามารถแยกเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
- มีอาการเหนื่อยและหายใจลำบาก ( Dyspnea )
- นอนราบไม่ได้ ( Orthopnea )
- เหนื่อยฉับพลันขณะหลับ ( Paroxysmal nocturnal dyspnea )
- มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง
- เกิดน้ำคั่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- หน้ามืด
- ใจสั่น
- ปากเขียว
- เล็บมือเขียว
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจวาย
สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ ประกอบด้วย คนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และ คนที่เป็นที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในหลอดเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ คนอ้วน และ คนที่ไม่ออกกำลังกาย
การรักษาภาวะหัวใจวาย
สำหรับแนวทางการรักษา โรคหัวใจต้องทำการลดภาระการทำงานของหัวใจลง สามารถทำได้โดย
- การป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การควบคุมและกำจัดน้ำส่วนเกินหรือน้ำคั่งในอวัยวะต่างๆ โดย ลดการบริโภคเกลือหรือของเค็ม เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับเกลือมากเกินกว่าความสามารถในการกำจัดของเสียของไต
- การลดภาระการทำงานของหัวใจ โดยการไม่ออกแรงมาก หรือ ไม่ออกกำลังกายหนักเกินไป หากรู้ตัวว่าเหนื่อยต้องพัก
- การเพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
การป้องกันภาวะหัวใจวาย
สำหรับการป้องกันการเกิดภาวะหัวใจวาย คือ การป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ( โรคหลอดเลือดหัวใจ ) เช่น การไม่สูบบุหรี่ การลดระดับไขมันในเลือดหากมีไขมันในเลือดสูง และการป้องกันการเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
หัวใจวาย ( Heart Failure ) ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงานตามปรกติ พบมากในผู้สูงอายุ คนที่อยู่ในภาวะเครียด อาการของโรคหัวใจวาย เช่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ อ่อนเพลีย เกิดน้ำคั่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ หัวใจเต้นผิดปกติ หน้ามืด ใจสั่น ปากเขียว เล็บมือเขียว การรักษาโรคหัวใจ