ไวรัสตับอักเสบบี Hepatitis B ภาวะติดเชื้อไวรัสที่ตับ สาเหตุของตับวาย ตับแข็ง มะเร็งตับ อาการตัวเหลืองตาเหลือง ปวดชายโครงด้านขวา อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ รักษาอย่างไร
ไวรัสตับอักเสบบี ภาษาอังกฤษ เรียก Hepatitis B เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ ซึ่งอาการสำคัญ คือ การอักเสบของเซลล์ตับ หากอาการมีความเรื้อรังจะเกิดพังผืด เป็นสาเหตุของตับแข็งและมะเร็งตับ การติดต่อของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ การใช้เข็มร่วมกับคนที่มีเชื้อ การสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งผ่านเข้าทางบาดแผล การใช้สิ่งของร่วมกับผู้มีเชื้อ เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อโดยไม่ป้องกัน
สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบบี
หากพูดถึงโรคตับอักเสบ โรคนี้มีหลายชนิด เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ตับอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น การดื่มสุรา การเสพยาเสพติด การติดเชื้อไวรัส เป็นต้น โรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง รายละเอียด ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ
- การใช้เข็ม สักตามตัวและการเจาะหู ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ
- การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ
- ติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด เราพบว่าลูกมีโอกาสติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 90
- การสัมผัส เลือด น้ำคัดหลั่ง ของผู้ติดเชื้อ
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี
สำหรับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะฉับพลัน และ ระยะเรื้อรัง รายละเอียด ดังนี้
- อาการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรับตับอักเสบบี ระยะเฉียบพลัน พบว่า ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 4 เดือน หลังจากได้รับเชื้อ โดยอาการจะมีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดชายโครงด้านขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีผื่น ปวดตามข้อ มีโอกาสเกิดภาวะตับวายได้ แต่อาการจะดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ หากสามารถควบคุมและกำจัดเชื้อไวรัสได้ แต่พบว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วยชนิดฉับพลัน จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรัง
- อาการของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ระยะเรื้อรัง เราสามารถแบ่งอาการของโรคนี้ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ระยะพาหะ และระยะตับอักเสบเรื้อรัง
- ระยะพาหะ ผู้ป่วยจะพบอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อให้อื่นได้
- ระยะอักเสบเรื้อรัง ระยะนี้การทำงานของตับผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ในผู้ป่วยบางรายมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี
สำหรับการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี สามารถใช้ยารักษา แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยของไวรัสบี ปัจจัยทางผู้ป่วย และระยะของโรค โดยในปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบี มีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี ยังเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ แต่ใช้ฆ่าแบคทีเรีย ซึ่งที่สำคัญ คือ พักการทำงานของตับ โดยการพักผ่อนให้มากๆ (ควรต้องหยุดงานอย่างน้อยประมาณ 3-4 สัปดาห์) นอกจากนั้น คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ฟื้นตัวได้เร็ว ลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ไม่ควรต่ำกว่าวันละ 6-8 แก้ว(เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ทุกวัน
- งดบุหรี่ และ แอลกอฮอล์ เพราะสารพิษในบุหรี่และแอลกอฮอล์ทำลายเซลล์ตับโดยตรง
- กินยาแต่ที่เฉพาะได้รับจากแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง เพราะเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่อเซลล์ตับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ตับอักเสบมากขึ้น
อนึ่ง ในการรักษาโรคในระยะเรื้อรัง ปัจจุบันมีตัวยาหลายชนิด ทั้งฉีด และกิน ใช้เพื่อชะลอการแบ่งตัวของไวรัส ส่วนจะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
สำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน สำหรับคนที่มีคนในครอบครัวเป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ ให้ตรวจเลือดเพื่อให้ทราบถึงภาวะของเชื้อ
- ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยผู้ที่ควรฉีดวัคซีนมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิด สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่โดยทั่วไปมีความจำเป็นน้อยในการฉีดวัคซีน เนื่องจากส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อแล้ว หากต้องการฉีดวัคซีนควรได้รับการตรวจเลือด ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วหรือมีภูมิต้านทานแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีน
- ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นพาหะ ควรตรวจเลือดเพื่อทราบถึงภาวะของการติดเชื้อก่อนการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนต้องฉีดให้ครบชุดจำนวน 3 เข็ม หลังจากนั้นวัคซีนจะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย
ข้อควรปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี
- ควรขอรับคำแนะนำจากแพทย์ และระมัดระวังการแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิด
- ไม่ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- เวลามีเพศสัมพันธ์ต้องสวมถุงยางอนามัย
- ไม่บริจาคเลือด
- งดการดื่มสุรา
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- หากต้องรับการผ่าตัดหรือทำฟัน ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
Beezab.com แหล่งความรู้ด้านสุขภาพ สมุนไพร (แบ่งตามสรรพคุณรักษาโรคของสมุนไพร) โรค (แบ่งต่ามอาการป่วยของอวัยวะต่างๆ) แม่และเด็ก อาหารเพื่อสุขภาพ โยคะ ธรรมะครูบาอาจารย์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลการดูแลตัวเองเบื้องต้น ข้อมูลดีๆในเว็ยไซต์แห่งนี้เนื้อหามีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเท่านั้น เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แทนคำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือ การรักษาโรคแต่อย่างใด หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย ควรคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดูที่ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของเรา