โยคะท่างู หรือ ท่าภุชงคาสนะ โยคะท่าพื้นฐาน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน และไหล่ ยืด ช่วยลดอาการปวดหลัง เป็นส่วนหนึ่งของชุดท่าโยคะสุริยมันสการ
โยคะท่างู หรือ ท่าภุชงคาสนะ โยคะท่าพื้นฐาน ท่าเอนไปด้านหลัง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน และไหล่ ยืด ช่วยลดอาการปวดหลัง การทำท่างู มักจะเป็นส่วนหนึ่งของ ชุดท่าโยคะสุริยมันสการ หรือ ชุดท่าไหว้พระอาทิตย์
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากให้รูปร่างสมส่วน หน้าอกสวย ใหญ่ขึ้น และ ก้นกระชับ คุณไม่ควรพลาดกับโยคะท่านี้ การออกกำลังกาย โยคะ ท่างู ( Cobra ) ท่านี้หากคุณฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ข้อมือ และ นิ้วมือของคุณแข็งแรงมากขึ้น เป็นการช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงให้แผ่นหลังส่วนล่าง ช่วยนวดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เพื่อลดอาการปวดประจำเดือนสำหรับคุณผู้หญิง ช่วยให้ปอดและตับทำงานดีขึ้น ลดอาการตับโต ม้ามโต สรรพคุณของโยคะท่านี้ถือว่ามีประโยชน์มาก
วิธีการฝึกโยคะท่างู
- เริ่มต้นด้วยการนอนคว่ำราบกับพื้น ให้เท้าเหยียดตรงหลังเท้าแนบชิดพื้น มือทั้งสองวางไว้ข้างลำตัวโดยให้อยู่ระดับเดียวกันกับหัวไหล่ พยายามกดเท้า กล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อสะโพก เกร็งให้ราบกับพื้น จิตจดจ่ออยู่กับตัวเอง หายใจเข้าให้ลึกๆ แล้วหายใจออก
- พอหายใจเข้าอีกรอบให้ใช้มือทั้ง 2 ข้างยันพื้นเพื่อเหยียดข้อศอกให้ยืดตรง พร้อมกับยกศีรษะ ไหล่ หน้าอก เอวให้สูงขึ้น พยายามเปิดอก เปิดไหล่ ให้หลังตรง หันหน้ามองไปข้างหลังจนสุด โฟกัสไปที่ปลายเท้า
- ใช้แขนดันขึ้นอย่างช้าๆ โดยให้บริเวณหัวเหน่า ต้นขาและเท้าแนบชิดกับพื้นเหมือนเดิม ทำท่านี้โดยไม่ฝืนจนรู้สึกปวดหลัง ทำค้างไว้ 15-30 วินาที จากนั้นหายใจออกให้ค่อยๆคลายกล้ามเนื้อหย่อนตัวลงราบกับพื้น สามารถทำซ้ำๆกันได้ 3-5 ครั้งตามความเหมาะสม
การออกกำลังกายโยคะ ท่างู (Cobra) ทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการให้รูปร่างสมส่วน กระชับสะโพก และกระชับหน้าอก เพราะขณะฝึกฝนท่านี้ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อเกือบทุกส่วน แต่โยคะท่านี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลัง และมีปัญหาเรื่องเส้นประสาทถูกกดทับ เพราะอาจจะทำให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้
การออกกำลังกายโยคะ ท่างู (Cobra) เรายังสามารถปรับเปลี่ยนและพลิกแพลงไปสู่ท่างูจงอางได้ โดยการงอเข่าเพื่อให้เท้าแตะศรีษะ ขึ้นอยู่กับการยืดหยุ่นของแผ่นหลังส่วนล่างของแต่ละคน ในส่วนคนที่ฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ก็สามารถทำท่านี้ต่อเนื่องได้โดยไม่รู้สึกฝืนหรือปวดหลัง
การออกกำลังกายโยคะ ท่างู Cobra เป็นท่าที่ช่วยให้หลับสบาย การฝึกฝนโยคะอย่างสม่ำเสมอ คุณจะพบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะรูปร่างที่ดีขึ้น ผิวพรรณดูสดใสเพราะเลือดลมไหลเวียนได้ดี ทางด้านจิตใจก็ทำให้คุณรู้สึกสงบ โยคะสอนให้มีสติ ฝึกฝนโดยใช้สมาธิอยู่กับตัวเอง อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ผ่อนคลายความตึงเครียดจากภาระหน้าที่ หรือปัญหาต่างๆ ที่รับมาในแต่ละวัน เราไม่สามารถหนีหรือหลีกเลี่ยงปัญหาได้ แต่เราสามารถหาเวลาเพื่อปล่อยวาง แล้วตั้งสติได้ เพื่อหาทางออก หาทางแก้ไขปัญหา ให้ออกมาดีที่สุด
ประโยชน์ของการฝึกโยคะท่างู
- ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย โดยเฉพาะ กระดูกสันหลัง ไหล่ และหน้าท้อง
- ช่วยให้กระชับกล้ามเนื้อส่วนสะโพก
- ช่วยกระตุ้นอวัยวะในช่องท้อง ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยลดความเครียด ทำให้ร่างกายมีความผ่อนคลาย
- ช่วยทำให้การทำงานของปอดและหัวใจดี
- ทำให้โรคหอบหืดหายได้
ข้อควรระวังในการฝึกโยคะท่างู
- สำหรับคนที่มีโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง รวมถึงเส้นประสาทถูกกดทับ ไม่ควรทำท่านี้
- สตรีที่ตั้งครรภ์อยู่ก็ควรหลีกเลี่ยงท่านี้
- สำหรับคนที่มีอาการปวดหัว อยู่ไม่ควรทำท่านี้
โยคะ (สันสกฤต: योग) เป็นกลุ่มของการปฏิบัติหรือการประพฤติทางกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยถือกำเนิดที่ประเทศอินเดีย หลายพันปีมาแล้ว วิธีการฝึกโยคะนั้นมีการได้ถ่ายทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน ในแถบหุบเขาอินดัส วอลเลย์ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบไม้แกะสลัก และงานศิลปะประเภทรูปปั้น ที่มีการฝึกโยคะ นักปราชญ์ชาวฮิน ชื่อ ปตัญชลี ได้ปรับปรุงรูปแบบการฝึกโยคะขั้นพื้นฐาน และได้เขียนตำราสูตรการฝึกโยคะไว้ 8 ข้อ ผู้ที่ฝึกและปฏิบัติโยคะ หากเป็นชายจะเรียกว่า โยคี และหากเป็นสตรีจะเรียกว่า โยคินี โยคะมาเป็นการออกกำลังกาย จะเน้นความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกระดูกทำให้เลือดและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนประสาท ทำให้การทำงานของต่อมต่างๆทำงานดีขึ้น ท่าต่างๆในการฝึกโยคะ จะยืดเหยียดกล้ามเนื้อตามแบบของโยคะสอดคล้องกับการหายใจ และการทำสมาธิ การฝึกโยคะจะทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายดี
แหล่งอ้างอิง
- Denise Lardner Carmody, John Carmody (1996), Serene Compassion. Oxford University Press US. p. 68.
- Stuart Ray Sarbacker, Samādhi: The Numinous and Cessative in Indo-Tibetan Yoga. SUNY Press, 2005, pp. 1–2.
- Tattvarthasutra [6.1], see Manu Doshi (2007) Translation of Tattvarthasutra, Ahmedabad: Shrut Ratnakar p. 102