ฝรั่ง ( Guava ) ผลไม้แสนอร่อย วิตามินซี่สูง สรรพคุณแก้ท้องเสีย ช่วยห้ามเลือด ระงับกลิ่นปาก รักษาฝี รักษาเหงือกบวม แก้ปวด บำรุงผิวพรรณ เป็นยาระบาย รักษาแผลพุพอง

ฝรั่ง สมุนไพร ผลไม้ สรรพคุณฝรั่ง

ต้นฝรั่ง เป็นไม้ผลชนิดหนึ่ง ที่คนไทยรู้จักกันดี ภาษาอังกฤษ เรียก Guava มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า psidium guajawa L ฝรั่งมีชื่อเรียก อื่นๆ เช่น จุ่มโป มะแกว มะกา มะมั่น มะปุ่น มะก้วย สีดา ชมพู่  ฝรั่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกากลาง คาดว่าเข้าสู่ประเทศไทยโดย พ่อค้าชาวโปรตุเกตและสเปน

ลักษณะของต้นฝรั่ง

ต้นฝรั่ง เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 3 – 8 เมตร ต้นเกลี้ยงมัน เปลือกต้นเรียบ มีเปลือกของลำต้นสีน้ำตาล ใบของฝรั่ง เป็นใบเดี่ยว กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ยอดอ่อนมีขนสั้นๆ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-8 ซม. ยาว 6-14 ซม. ดอกของฝรั่ง เป็นดอกเดี่ยวหรือช่อ 2-3 ดอก ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลของฝรั่งจะมีสีเขียว ผลเป็นผลสด ผลดิบสีเขียว กินได้ เมื่อสุกเป็นสีเหลือง

พันธุ์ของฝรั่งที่นิยมกินสดๆ เป็นพันธุ์ฝรั่งที่นิยมปลูกเพื่อการค้า นั้น มี 5 พันธ์ โดยรายละเอียด มีดังนี้

  • ฝรั่งเวียดนาม ลูกใหญ่กว่าฝรั่งพื้นบ้าน ถึง 2 – 3 เท่า ถูกนำเข้าจากเวียดนามมาปลูกที่อำเภอสามพรานเมื่อ พ.ศ. 2521– 2523
  • ฝรั่งกิมจู เป็นฝรั่งไร้เมล็ด สีนวลสวย รสหวานกลมกล่อม กรอบ
  • ฝรั่งกลมสาลี่ เป็นพันธ์แรกๆที่นิยมปลูกกันมาก ต่อมามีพันธ์แป้นสีทองเข้ามา จึงปลูกน้อยลงเรื่อยๆ
  • ฝรั่งแป้นสีทอง ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ผลเมื่อโตเต็มที่จะขาว ฟู กรอบ เริ่มแรกปลูกที่อำเภอสามพราน ภายหลังได้แพร่กระจายไปทั่ว
  • ฝรั่งไร้เมล็ด ลักษณะลูกยาวๆ ไม่มีเมล็ด รสชาติด้อยกว่าฝรั่งแป้นสีทอง และกิมจู

คุณค่าทางโภชนาการของฝรั่ง

ฝรั่ง เป็น ผลไม้ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ในฝรั่ง 100 กรัม พบว่ามี ให้พลังงาน 51 กิโลแคลอรี วิตามิน B1 0.06 มิลลิกรัม วิตามิน B2 0.13 มิลลิกรัม วิตามิน C 160 มิลลิกรัม วิตามิน A 89 มิลลิกรัม แคลเซี่ยม 13 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 11 กรัม โปรตีน 0.90 กรัม เส้นใยอาหาร 6 กรัม ไขมัน 0.11 กรัม ความชื้น 80.70% และมีสารเพคตินเป็นจำนวนมาก

เพคติน (pectin) เป็น พอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ประเภท heteropolysaccharide ซึ่งมีหน่วยย่อย คือ กรด กาแล็กทูโรนิก เมทิลการแล็กทูโรเนต และน้ำตาล ทำหน้าที่ยึดเกาะผนังเซลล์ของร่างกายให้แน่น

สรรพคุณของฝรั่ง

เราสามารถนำฝรั่งมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร ตั้งแต่ ใบ ผล ราก รายละเอียด ดังนี้

  • ใบของฝรั่ง ใช้ในการ แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง แก้ท้องเดิน ใช้ห้ามเลือดในแผลสด ระงับกลิ่นปาก รักษาฝี เป็นยาล้างแผล ดูดหนอง และถอนพิษบาดแผล บรเทาอาการเหงือกบวม แก้พิษเรื้อรัง แก้ปวด
  • ผลอ่อนของฝรั่ง ใช้ในการแก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง แก้ท้องเดิน ระงับกลิ่นปาก รักษาอาการบิด รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน บำรุงเหงือกและฟัน บำรุงผิวพรรณ
  • ผลสุก สามารถใช้เป็นยาระบายได้ดี
  • รากของฝรั่ง สามารถใช้ รักษาฝี รักษาแผลพุพอง แก้เลือดกำเดาไหล

วิธีทำน้ำฝรั่ง

  1. เริ่มจากการคัดเเลือกผลฝรั่ง ที่สดๆ ก่อน การสังเกตุผลฝรั่งที่สด ดูจากผลฝรั่งแข็ง ไม่นุ่ม นำผลฝรั่งมาหั่นเป็นชิ้น เอาเมล็ดออก จากนั้นให้เตรียมน้ำเชื่อมโดย
  2. การเตรียมน้ำเชื่อม ให้นำน้ำสะอาดต้มสุก ใส่น้ำตาล และ เกลือลงไปต้ม ให้ได้รสชาติหวานแบบกลมกล่อม
  3. เมื่อเราได้น้ำเชื่อมและเนื้อฝรั่งแล้ว ก็เริ่ม โดยการ นำเนื้อฝรั่งมาใส่น้ำพอท่วมเนื้อฝรั่ง และ ปั่นให้ละเอียด เราจะได้น้ำฝรั่ง จากนั้น ให้ทำการกรองน้ำฝรั่ง เราจะได้น้ำสีเขียวของฝรั่ง
  4. นำน้ำฝรั่งมาปรุงรสกับน้ำเชื่อม ซึ่งขั้นตอนนี้ ความหวานของน้ำเชื่อมให้ใส่ได้ตามใจคนดื่มได้เลย
  5. จากนั้นให้นำน้ำฝรั่ง ที่เราปรุงรสเอาไว้แล้ว แช่เย็น เมื่อน้ำฝรั่งเย็นได้ที่ก็พร้อมสำหรับนำมาดื่มให้ความสดชื่นต่อร่างกาย

ฝรั่ง ( Guava ) ผลไม้ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี สรรพคุณของฝรั่ง คุณค่าทางสมุนไพรของฝรั่ง ใช้แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง แก้ท้องเดิน ใช้ห้ามเลือดในแผลสด ระงับกลิ่นปาก รักษาฝี เป็นยาล้างแผล ใช้ดูดหนอง และถอนพิษบาดแผล บรรเทาอาการเหงือกบวม แก้พิษเรื้อรัง แก้ปวด รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน บำรุงเหงือกและฟัน บำรุงผิวพรรณ เป็นยาระบาย รักษาฝี รักษาแผลพุพอง แก้เลือดกำเดาไหล

สะเดา Siamese neem tree ผักพื้นบ้าน สมุนไพรมีรสขม สรรพคุณดูแลช่องปาก เหงือกและฟัน ช่วยถ่ายพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง ลดความดัน ลดไข้ แก้อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร

สะเดา สมุนไพร สรรพคุณของสะเดา

ต้นสะเดาในประเทศไทย เราพบว่า สะเดาสามารถการกระจายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาติตามป่าเบญจพรรณและป่าแดง ทั่วประเทศ  นอกจากนี้ยังสามารถพบสะเดาได้ตามป่าแล้งในประเทอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถานและศรีลังกา

ต้นสะเดา ภาษาอังกฤษ เรียก Siamese neem tree. มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica A. Juss. Var. siamensis Veleton. ชื่ออื่นๆของสะเดา เช่น สะเลียม กะเดา จะตัง สะเดาบ้าน เดา กระเดา จะดัง จะตัง ผักสะเลม ลำต๋าว สะเรียม ตะหม่าเหมาะ ควินิน สะเดาอินเดีย ไม้เดา เป็นต้น

ลักษณะของต้นสะเดา

ต้นสะเดา เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 7 เมตร ใบของสะเดาเป็นแบบขนนก เรียงสลับใบ ยอดอ่อนของใบมีสีน้ำตาลอมแดง ดอกของสะเดา จะออกบริเวณปลายของกิ่ง และจะดอกสะเดาจะออกเมื่อใบของสะเดาแก่และร่วงไป ดอกสะเดามีกลีบดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม ผลของสะเดา มีลักษณะเป็นรูปรี กลม

คุณค่าทางโภชนาการของสะเดา

นักโภชนาการได้ศึกษา คุณค่าทางอาหารของสะเดา พบว่า ยอดสะเดา 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 76 กิโลแคลอรี ซึ่มประกอบไปด้วยน้ำ 77.9 กรัม แคลเซี่ยม 354 มิลลิกรัม โปรตีน 5.4 กรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 12.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม กากใยอาหาร 2.2 กรัม ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 194 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.06 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 3611 ไมโครกรัม วิตามินบีสอง 0.07 มิลลิกรัม ในสะเดาพบว่ามีสารสำคัญที่มีประโยชน์ เช่น ในใบสะเดามี quercetin และสารพวก limonoid ได้แก่ nimbolide และ nimbic acid ในเมล็ดสะเดามี Azadirachtin ประมาณ 0.4-1% ในเปลือกต้นสะเดามีสาร nimbin และ desacetylnimbin

สรรพคุณทางสมุนไพรของสะเดา

สามารถนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ยอดอ่อน ขนอ่อน เปลือกต้น ก้ายใบ กระพี้ ยาง แก่น ราก ใบ ผล เมล็ด รายละเอียด ของ สรรพคุณของสะเดา มีดังนี้

  • ดอกสะเดาและยอดอ่อนสะเดา สามารถใช้ แก้พิษโลหิต หยุดเลือดกำเดา รักษาริดสีดวงในลำคอ บำรุงธาตุ ช่วยขับลม
  • ขนอ่อนสะเดา สามารถใช้ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
  • เปลือกต้นสะเดา ใช้ลดไข้ ช่วยเจริญอาหาร แก้ท้องเดิน
  • ก้านใบสะเดา สามารถใช้ลดไข้ นำมาทำเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย
  • กระพี้ สามารถใช้รักษาถุงน้ำดีอักเสบ
  • ยางของต้นสะเดา ใช้ในการดับพิษร้อน
  • แก่นสะเดา รักษาอาการแก้อาเจียน ช่วยขับเสมหะ
  • รากสะเดา สามารถนำมาใช้รักษาโรคผิวหนัง ขับเสมหะ
  • ใบสะเดา และผลสะเดา สามารถใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลง และบำรุงธาตุ
  • ผลของสะเดา จะมีรสขม นิยมนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นยาระบาย รักษาโรคหัวใจเดินผิดปกติ
  • เปลือกของรากสะเดา จะมีรสฝาด ใช้ลดไข้ ทำให้อาเจียน และใช่รักษาโรคผิวหนัง
  • เมล็ดสะเดา สามารถนำมาสกัดน้ำมัน และสามารถใช้รักษาโรคผิวหนัง และทำเป็นยาฆ่าแมลง

ข้อควรระวังในการบริโภคสะเดา

  1. ห้ามบริโภคสะเดาในคนที่มีความดันต่ำ เนื่องจากสะเดามีฤทธ์ให้ความดันโลหิตต่ำลง
  2. สะเดา เป็น ยาเย็น มีรสขมอาจทำให้ท้องอืด เกิดลมในกระเพาะได้
  3. ในสตรีหลังคลอด ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้น้ำนมแห้ง

การปลูกสะเดา

สามารถปลูกได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และก่อนปลูกควรไถพรวนแปลงอีกรอบ และตากดินนาน 3-5 วัน วิธีการปลูก เตรียมต้นกล้าสำหรับปลูกที่มีอายุ 3-5 เดือน และมีความสูงประมาณ 20 เซ็นติเมตร จากนั้นนำลงแปลงปลูก ขุดหลุมในระยะระหว่างหลุมประมาณ 3 เมตร ควรให้ขนานกับแนวของดวงอาทิตย์ในทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อให้ต้นสะเดาสามารถรับแสงได้อย่างทั่วถึง