สมองพิการ ( Cerebral Palsy ) โรคซีพี สมองพิการเกิดจากอะไร

สมองพิการ ( Cerebral Palsy ) โรคซีพี การพิการทางสมองอย่างถาวรตั้งแต่เด็ก ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง ใบหน้าเกร็ง การทรงตัวไม่ดี การนั่ง ยืนและเดินผิดปกติ

โรคซีพีที่พบในเด็กมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนา ทำให้มีพัฒนาการช้า โดยเฉพาะการเดิน การยืน การทรงตัว การควบคุมตนเองได้ยากเช่น น้ำลายยืด การพูดทำได้ช้า เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรคสมองพิการ

ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยโรคซีพี ไม่ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน แต่ส่วนมากพบว่าเกิดความผิดปรกติของสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เราสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดโรคซีพี  หรือ โรคสมองพิการ ได้ 3 ระยะ คือ ระยะก่อนคลอด ระยะระหว่างคลอด และ ระยะหลังคลอด โดยรายละเอียดของสาเหตุการเกิดโรค มีดังนี้

  • สาเหตุการเกิดโรคสมองพิการในระยะก่อนคลอด ( prenatal period ) ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กมีความพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด ประกอบด้วย การติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ติดเชื้อซิฟิลิส ติดเชื้อหัดเยอรมัน ติดโรคเริม ติดเชื้อมาเลเรีย เป็นต้น การขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ การขาดสารอาหารของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ โรคประจำตัวของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ การได้รับสารพิษระหว่างการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของสมองของเด็กตั้งแต่เกิด เช่น เกิดภาวะน้ำคั่งศีรษะ สมองไม่เจริญ สมองลีบ สมองเล็ก
  • สาเหตุของการเกิดโรคสมองพิการในระยะระหว่างคลอด( perinatal period ) นับระยะของการเกิดโรคโดยอายุครรภ์ 6 เดือน จนถึงการคลอด สาเหตุของการเกิดโรค เช่น การคลอดลูกก่อนกําหนด การขาดออกซิเจนในระหว่างคลอดของเด็ก  ซึ่งเกิดจากการคลอดผิดปรกติ เช่น คลอดยาก สายสะดือพันคอ เป็นต้น
  • สาเหตุของการเกิดโรคสมองพิการในระยะหลังการคลอด ( postnatal period ) เกิดจากสาเหตุของสมองขากออกซิเจน การติดเชื้อโรคในสมอง และ การเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง เป็นต้น

อาการของโรคสมองพิการ ( โรคซีพี )

การพบความผิดปรกติของโรคสมองพิการจะพบว่าสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุก่อน 1 ขวบ โดยสามารถสังเกตุอาการจาก ความผิดปรกติของกล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็ง เด็กกำมือมากกว่าแบมือ และพัฒนาการเกี่ยวกับการเดิน โดยเด็กไม่สามารถเดินได้ ลักษณะอาการของโรคสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการเกร็ง กลุ่มอาการกระตุก และ กลุ่มอาการเกร็งและกระตุก โดยรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มอาการเกร็ง ( spastic ) อาการนี้พบมากที่สุด โดยกล้ามเนื้อมีความตึงตัวมากผิดปกติ ทำให้กิดการเกร็ง โดยการเกร็งมี 3 แบบ คือ เกร็งครึ่งซีก เกร็งครึ่งท่อน และ เกร็งทั้งตัว
  • กลุ่มอาการกระตุก ( athetoid ) มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ไมสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้  หรือ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อยจนผิดปกติ ทำให้มีปัญหาการทรงตัว
  • กลุ่มอาการเกร็งและกระตุกผสมกัน ( mixed type )

นอกจากอาการผิดปรกติของกล้ามเนื้อแล้ว โรคสมองพิการ หรือ โรคซีพี จะเกิดโรคอื่นๆ ร่วมด้วย โดยสามารถสรุปโรคที่เกี่ยวกับโรคสมองพิการ มีดังนี้

  • เกิดภาวะปัญญาอ่อน มีความบกพร่องด้านระดับสติปัญญา และมักจะมีปัญหาอื่นร่วมด้วยเสมอ เช่น การมองเห็นไม่ดี การฟังไม่ดี การพูดไม่ดี อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
  • มีอาการเศร้าซึม เนื่องจากทำการเคลื่อนไหวไม่ได้ดังตั้งใจ บางครั้งทำได้ บางครั้งทำไม่ได้ ไม่สามารถวิ่งเล่นกับเพื่อนได้ ช่วยตัวเองไม่ได้เลยทำให้มีปัญหาทางอารมณ์และสังคมได้
  • เกิดโรคลมชัก พบว่าร้อยละ 50 ของเด็กสมองพิการ จะมีอาการชัก
  • มีปัญหาด้านกระดูก อาจพบภาวะกระดูกสันหลังคด ( scoliosis ) การหดรั้งและเท้าแปแต่กำเนิด ( equinus ) เป็นต้น
  • มีปัญหาด้านฟันและช่องปาก เด็กสมองพิการมักมีปัญหาฟันผุ เนื่องจากความสามารถในการดูแลร่างกายต่ำ

การรักษาโรคสมองพิการ

เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ เพราะ สมองมีความพิการ ไม่สามารถทำให้กลับมาปรกติได้ สิ่งที่ทำได้ คือ การฟื้นฟูและบรรเทาอาการ รวมถึงฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสังคม สำหรับการรักษาโรคซีพี สามารถรักษาเพื่อให้ใช้ชีวิตให้ได้ปรกติที่สุด สามารถใช้ยารักษา การผ่าตัด การกายภาพบำบัดร่วม รวมถึงการอุปกรณ์เสริม โดยรายละเอียดการรักษา มีดังนี้

  • การรักษาด้วยการทำภาพบำบัด เพื่อทำการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด และ รักษาเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการพูด
  • การรักษาด้วยการให้ยา ยากินมี 2 ลักษณะ คือ ยกกิน และ ยาฉีด โดน ยากินเพื่อช่วยลดความเกร็งของกล้ามเนื้อ ส่วนยาฉีดจะใช้เฉพาะที่แต่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ยาจะมีฤทธิ์ทำให้ประสาทส่วนปลายถูกขัดขวาง เพื่อลดความผิดรูปของข้อและกล้ามเนื้อที่เกร็งผิดรูป
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยผ่ากล้ามเนื้อที่ยึดตึง ย้ายเอ็น เพื่อสร้างความสมดุลของข้อกระดูก และ ผ่าตัดกระดูกที่ผิดรูป ให้มีความสมดุลย์ นอกจากการผ่าตัดกล้ามเนื้อและกระดูก ยังมีการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การผ่าตัดแก้ตาเหล่ ผ่าตัดแก้น้ำลายยืด
  • การรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์เสริมร่วมกับ เป็นการนำเอาอุปกรณ์มาช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายดีกว่าปรกติ เช่น เฝือกอ่อนพยุงข้อเท้า ( ankle foot orthoses – AFO ) อุปกรณ์ช่วยเดิน ( walker ) เป็นต้น

การดูแลผู้ป่วยโรคซีพี

  • ควรให้ผู้ป่วยขยับร่างกายบ่อยๆ เช่น ฝึกเดิน ฝึกการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง บริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ การฟื้นฟูร่างกาย ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก โดยไม่ควรเกินอายุ 7 ปี จะทำให้เด็ดมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
  • ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น อุปกรณ์ต่างๆที่ช่วยให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ทางเดินควรเป็นทางลาด ไม่ควรวางสิ่งของกีดขวางทางเดิน เป็นต้น
  • หากิจกรรมช่วยการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก เช่น พาเข้าสังคม ทำกิจกรรมเสริมทักษะทั้งกล้ามเนื้อ สมอง
  • การฝึกให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองในกิจกรรมพื้นฐาน เช่น การเคี้ยวอาหาร การหยิบจับสิิ่งของ การใส่เสื้อผ้าเอง การขับถ่าย เป็นต้น

สมองพิการ ( Cerebral Palsy ) นิยมเรียก โรคซีพี  คือ โรคในเด็ก เป็นการพิการทางสมองอย่างถาวร ตั้งแต่เด็ก ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปรกติเช่น ใบหน้าเกร็ง การทรงตัวไม่ดี การนั่ง ยืน และ เดิน ผิดปกติ รวมถึงการทำงานของสมอง เช่น ความบกพร่องในการมองเห็น ได้ยิน การรับรู้ การเรียนรู้ สติปัญญา และ โรคลมชัก เป็นต้น