มะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะปัสสาวะขัด รักษาเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมาก Prostate Cancer พบในเพศชาย ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อาการของโรค เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด แนวทางการรักษาและป้องกันอย่างไรมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็ง โรคระบบขับถ่าย โรคระบบสืบพันธ์

ต่อมลูกหมาก ( prostate gland ) คือ อวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะของเพศชาย ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อลื่นที่อยู่ในน้ำอสุจิ ( semen ) ต่อมลูกหมากแบ่งเป็นสองซีก (lobe) และ มีท่อปัสสาวะ (urethra) อยู่ตรงกลาง

มะเร็งต่อมลูกหมาก ( Prostate Cancer ) คือ ภาวะการเกิดเนื้องอก เนื้อร้าย ทีพบได้ในเพศชาย โรคนี้จะค่อยๆเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ ที่ต่อมลูกหมาก ในบางรายมะเร็งมีความรุนแรง เซลล์มะเร็งจากต่อมลูกหมาก สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายได้ โดยเฉพาะกระดูกและต่อมน้ำเหลือง โรคนี้ในระยะแรกไม่มีอาการ ระยะต่อมาอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ปัสสาวะลำบาก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และ เสียชีวิตในที่สุด

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบในผุ้ชายอายุประมาณ 70 ปี  ในปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้เร็วขึ้น จากการตรวจโดยใช้นิ้วคลำทางทวาร และ การตรวจเลือดหาสาร PSA ผู้ชายอายุประมาณ 45 – 50 ปี ที่มีประวัติญาติพี่น้องป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค

สาเหตุของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคนี้จากความรู้ทางการแพทย์ ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคได้อย่างชัดเจน แต่พบว่าเกิดจากเซลล์ในต่อมลูกหมากผิดปกติ เจริญเติบโตรวดเร็วกว่าปกติ และก่อให้เกิดเนื้องอกลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้าง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
สามารถสรุป ปัจจัยของการเกิดโรค ได้ดังนี้

  • อายุ เพศชายคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น
  • พันธุกรรม ในคนที่มีประวัติญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคมากกว่าคนอื่น
  • เชื้อชาติ จากสถิติการเกิดโรคชายในประเทศตะวันตกและยุโรป มีโอกาสเกิดโรคมากกว่าชายเอเชีย
  • การกินอาหาร สำหรับคนที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง และ รับประทานเนื้อแดง มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปรกติ แต่เมื่อมะเร็งเกิดขยายตัวขึ้นจนกดทับท่อปัสสาวะ ก็จะเริ่มแสดงอาการผิดปรกติที่ระบบการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย แสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด จนถึงปัสสาวะเป็นเลือดได้ ซึ่งอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถสังเกตุได้จาก อาการ ดังต่อไปนี้

  • ปัสสาวะผิดปรกติ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะแผ่วเบา ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการบวมตามร่างกายส่วนล่าง
  • ขาอ่อนล้า และ ขยับไม่ได้
  • มีอาการท้องผูก
  • เจ็บบริเวณเชิงกรานและหลังส่วนล่าง

ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถแบ่งระยะของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ถึง ระยะที่ 4 โดยรายละเอียด มีดังนี้

  • มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 1 พบเกิดมะเร็งเฉพาะที่ต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว ไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 2 พบว่ามะเร็งมีขนาดใหญ่ และพบมะเร็งเกิดทั้งสองกลีบของต่อมลูกหมาก ซึ่งในระยะนี้ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 3 พบว่ามะเร็งแพร่กระจายสู่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมาก และ ลุกลามไปยังท่อน้ำเชื้อ
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 4 พบว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งสู่กระดูกและต่อมน้ำเหลือง

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับการรักษามะเร็งที่ต่อมลูกหมาก แพทย์จะเลือกวิธีรักษาด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี การทำเคมีบำบัด และ การใช้ฮอร์โมน แพทย์จะเลือกใช้วิธีทั้งหมดในการรักษา โดยเลือกตามความเหมาะสม จากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด ระยะของเซลล์มะเร็ง และ สภาพร่างกายและจิตใจ ของผู้ป่วย รายละเอียดของการรักษา มีดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัด สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัด มี 2 วิธี คือ การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง ( laparoscopic radical prostatectomy) และ การผ่าตัดโดยใช้แขนกลช่วยผ่าตัด (robotic–assisted da Vinci surgery หรือ da Vinci® prostatectomy)
  • การฉายรังสี โดยการฝังแร่ที่ต่อมลูกหมาก และ ฉายรังสี
  • การทำเคมีบำบัด ปัจจุบันวิธีการรักษานี้ให้ผลการรักษาที่ดี ผลข้างเคียงน้อย
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน คืิอ การลดฮอร์โมนเพศชาย เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งการลดฮอร์โมนเพศชาย ทำโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือ ผ่าตัดเอาอัณฑะออก

การป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีแนวทางการปฏิบัติตน ดังนี้

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรรับประทานผัก ผลไม้และธัญพืช แต่ยังไม่มีข้อมูลพิสูจน์ได้ว่า ช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นพื้นฐานการดูแลร่างกาย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อถึงระยะอายุที่มีความเสี่ยง

มะเร็งต่อมลูกหมาก ( Prostate Cancer ) คือ เนื้องอกชนิดหนึ่งพบในเพศชาย ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ มีปัจจัยจาก เพศ อายุ เชื้อชาติ และ การกินอาหาร อาการของโรค เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด รักษาอย่างไร และ ป้องกันอย่างไร

Last Updated on March 17, 2021