การคุมกำเนิด สามารถแบ่งเป็น การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว และ การคุมกำเนิดแบบถาวร การคุมกำเนิดเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว เพื่อการมีบุตรในเวลาที่เหมาะสม
บทความเกี่ยวกับการคุมกำเนิด
การคุมกำเนิดหรือการป้องกันการตั้งครรภ์ (Contraception) คือ การป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยมีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์หลายกลไก เช่น การป้องกันไม่ให้มีการตกไข่ การป้องกันไม่ให้ไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิ และการป้องกันไม่ให้มีการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก
ข้อควรคำนึงในการเลือกวิธีคุมกำเนิด
สำหรับการเลือกวิะีในการคุมกำเนิดนั้นมีหลักในการพิจารณา ดังนี้
- ความสะดวกในการใช้วิธีต่างๆดังกล่าว
- ความสะดวกในการเข้าถึงการคุมกำเนิด
- ระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด
- ความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์ของวิธีคุมกำเนิด
- ความสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- โรคประจำตัวหรือข้อเสียในวิธีคุมกำเนิดแต่ละวิธี
ชนิดของการคุมกำเนิด
วิธีการคุมกำเนิดมีมากมายหลายชนิดสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทแล้วแต่เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภท ทั้งนี้ในที่นี้แบ่งตามระยะเวลาในการคุมกำเนิด โดยแบ่งออกเป็น
- การคุมกำเนิดชั่วคราว เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะมีอยู่เพียง ชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เอง เหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต
วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มีรายละเอียด ดังนี้
ถุงยางอนามัยบุรุษ | ถุงยางอนามัยสตรี |
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว | ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม |
ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน | แผ่นแปะคุมกำเนิด |
ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม | ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว |
ยาฝังคุมกำเนิด | ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง |
ห่วงคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนโปรเจสติน | วงแหวนคุมกำเนิด |
- การคุมกำเนิดถาวร เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ทำครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอด ไม่สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เองอีก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรอีกแล้ว
การทำหมันใหญิง
ข้อดีของการทำหมันในหญิง คือ ผ่าตัดครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการคุม กำเนิด การตั้งครรภ์ และทำให้เพิ่มความสุขทางเพศเพราะไม่ต้องกังวลต่อการตั้งครรภ์
ข้อเสียของการทำหมันในหญิง คือ ต้องได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ มีแผลที่หน้าท้อง หากต้องการมีบุตรเพิ่มอีกต้องได้รับการผ่าตัดแก้หมันโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ในการผ่าตัดที่เฉพาะ
เป็นการคุมกำเนิดโดยการตัดผูกท่อนำไข่ 2 ข้าง ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเข้าปฏิสนธิ กับไข่ได้จึงไม่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังผ่าตัด ประมาณ 0.2 – 0.7%
การทำหมันในชาย
ข้อดีของการทำหมันในชาย คือ ผ่าตัดครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต การผ่าตัดทำได้ง่ายใช้เวลาน้อย ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์จึงทำให้เพิ่มความสุขทางเพศ
ข้อเสียของการทำหมันในชาย คือ ต้องได้รับการผ่าตัดจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมา หากต้องการมีบุตรเพิ่มอีกต้องได้รับการผ่าตัดแก้หมันโดยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการผ่าตัดเฉพาะ
เป็นการคุมกำเนิดโดยผ่าตัดผูกหลอดนำอสุจิที่บริเวณอัณฑะ ทำให้ไม่มีตัวอสุจิออกมากับน้ำเชื้อจึงไม่มีการปฏิสนธิของอสุจิกับไข่