รวมความรู้เกี่ยวกับการคลอดลูก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร สำหรับการมีลูก ให้ลูกในครรภ์แข็งแรง คุณแม่ปลอดภัย สมบูรณ์
บทความเรื่องการคลอดลูก
การคลอดลูกนั้น มีระยะของการคลอดลูก ซึ่งโดยปกติแล้วระยะการคลอดจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะเจ็บครรภ์จริง (First stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริง ๆ เมื่อปากมดลูกเริ่มขยายจนกระทั่งปากมดลูกขยายเต็มที่ พร้อมที่ให้คุณแม่เบ่งคลอดได้ (ปากมดลูกเปิดเต็มที่ หมายถึง ปากมดลูกซึ่งเดิมกว้างไม่ถึง 1 เซนติเมตรขยายกว้างพอที่หัวลูกจะผ่านออกมาได้ โดยปกติจะมีความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร) ในระยะนี้เป็นระยะที่คุณแม่จะต้องนอนรออยู่ในห้องรอคลอด ซึ่งจะใช้เวลารวม ๆ กันแล้วประมาณ 12-18 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรก หรือ ระยะเฉื่อย (Latent phase) ตั้งแต่ปากมดลูกเริ่มเปิดหรือเริ่มเจ็บครรภ์จริงไปจนปากมดลูกเปิด 3-4 เซนติเมตร ในช่วงนี้คุณแม่จะมีอาการเจ็บไม่มาก ในท้องแรกอาจใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง
- ช่วงที่สอง หรือ ระยะเร่ง (Active phase) จะเป็นช่วงที่มดลูกหดรัดตัวถี่ขึ้น ถุงน้ำคร่ำมักจะแตกในระยะนี้ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำเดินมาก่อน แต่ในบางรายแพทย์มักใช้เครื่องมือช่วยเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อให้การคลอดดำเนินไปได้ด้วยดี มดลูกจะหดรัดตัวถี่ แรง และนานขึ้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องมากจนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่ในท้องหลังจะใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง (ในระยะนี้คุณแม่หลายคนอาจรู้สึกอยากเบ่งคลอด แต่ถ้าเบ่งแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าปากมดลูกยังขยายไม่เต็มที่ ต้องรอให้แพทย์ดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วถึงจะเบ่งได้)
- ระยะเบ่งคลอด (Second stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมดและคุณแม่เริ่มเบ่งคลอดจนกระทั่งคลอดลูกน้อยออกมา หมอและพยาบาลจะย้ายคุณแม่จากห้องรอคลอดเข้ามาอยู่ในห้องคลอด ในคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) ถ้าเบ่งนานเกิน 60 นาทีถือว่าเบ่งนานผิดปกติ หมอมักพิจารณาให้การช่วยเหลือการคลอด ส่วนในคุณแม่ท้องหลังจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที (ไม่เกิน 30 นาที)
- ระยะคลอดรก (Third stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยคลอดออกมาจนกระทั่งรกคลอด ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าเกิน 30 นาทีจะต้องช่วยโดยการล้วงรก
- ระยะสังเกตอาการหลังคลอด จะเริ่มตั้งแต่รกคลอดไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เป็นระยะที่หมอหรือพยาบาลจะเย็บซ่อมฝีเย็บให้เรียบร้อยและดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดในห้องสังเกตอาการหลังคลอดว่าเพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที เช่น มีการตกเลือดหลังคลอด
วิธีการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
เรื่องการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ และการผ่าคลอดนั้นเป็นเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกการคลอดลูกด้วยวิธีใด ซึ่งเราได้ทำบทสรุปข้อดีข้อเสียของการคลอดลูกในรูปแบบต่างๆให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ข้อดีของการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
- มีค่าใช้จ่ายในการคลอดถูกกว่า
- การคลอดเองนั้นคุณแม่อาจจะต้องเจ็บบ้างในช่วงที่ปากมดลูกขยายตัว แต่ก็มียาฉีดแก้ปวดให้ เมื่อคลอดได้แล้ว ความเจ็บปวดทั้งหลายก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง เหลือแต่เจ็บแผลเพียงเล็กน้อยที่ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ทั้งมิได้ทำให้ร่างกายของลูกและช่องคลอดของคุณแม่บอบช้ำมากอย่างที่เข้าใจ เมื่อคลอดแล้วบริหารร่างกาย บริหารช่องคลอด ทุกอย่างก็จะกลับสู่สภาพปกติได้
- ร่างกายมีการฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าคลอดมาก พอคลอดเสร็จมดลูกจะหดตัวเล็กลงและไม่มีแผลที่มดลูกเหมือนการผ่าคลอด
- เมื่อคลอดออกมาทางช่องคลอด ตัวช่องคลอดจะบีบส่วนช่องอกของทารกเพื่อรีดเอาน้ำคร่ำที่คั่งค้างอยู่ในปอด เมื่อลูกน้อยสูดอากาศหายใจเข้าครั้งแรก น้ำคร่ำจะดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดส่วนหนึ่งและทำให้ปอดไม่ชื้น ต่างจากทารกที่ผ่าคลอด ซึ่งทรวงอกของทารกจะไม่ได้รับการบีบรัดแบบนี้ จึงทำให้มีโอกาสที่จะมีน้ำคั่งในปอดและหายใจเร็วตามมาได้ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยกว่าทารกที่คลอดทางช่องคลอด
- ทารกที่คลอดทางช่องคลอดในระหว่างที่เดินทางผ่านช่องคลอดจะมีการกลืนสารคัดหลั่งในช่องคลอดซึ่งอุดมไปด้วยแบคทีเรียที่เป็น “โปรไบโอติกส์“ มากมายเข้าสู่ลำไส้เพื่อไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภูมิต้านทานโรคและป้องกันโรคอักเสบติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ และอุจจาระร่วง ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะไม่ทำให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรคเหล่านี้ ยิ่งหากลูกน้อยที่ผ่าตัดคลอดแล้วยังไม่ได้กินนมแม่ ก็จะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่ดีด้วย และจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น
ข้อเสียของการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
- กำหนดวันเวลาคลอดไม่ได้ สำหรับคุณแม่ที่มีเตรียมฤกษ์หรือเตรียมตั้งชื่อไว้ตามวันเกิดแล้วก็คงจะกำหนดไม่ได้
- คุณแม่อาจต้องทนเจ็บปวดอยู่นาน ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของการคลอด แต่ความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดนี้สามารถให้ยาระงับปวดได้หลายวิธี เช่น การฉีดยาเข้าเส้นเลือด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือแม้แต่การฝังเข็ม
- ในระหว่างรอคลอดอาจเกิดภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม คลอดไม่ออก หัวใจลูกเต้นช้า ทำให้ต้องผ่าคลอดฉุกเฉินอยู่ดี แต่ไม่ต้องกังวลครับเพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ส่วนใหญ่จะคลอดเองได้อยู่แล้ว
ข้อดีของการผ่าคลอด
- คุณแม่ไม่ต้องทนเจ็บ เพราะมีการควบคุมความเจ็บปวดที่ได้ผลค่อนข้างแน่นอน
- สามารถกำหนดเวลาคลอดตามฤกษ์ได้ (และตั้งชื่อของลูกน้อยไว้ก่อนล่วงหน้าได้) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่เป็นเคสซับซ้อน ต้องการทีมแพทย์ดูแลหลายแผนก
- ไม่เสี่ยงกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างในระหว่างรอคลอด เช่น ปากมดลูกไม่เปิด หัวใจเด็กเต้นช้า สายสะดือโผล่
- หากการผ่าคลอดมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น เด็กท่าก้น เด็กตัวโต อุ้งเชิงกรานแคบ ทารกมีภาวะหัวใจเต้นช้า ทารกมีความพิการที่ไม่สามารถคลอดเองได้ ปากมดลูกไม่เปิดหรือเปิดช้า ฯลฯ ถ้ามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะเหตุและผลที่ได้มันคุ้มกันครับ
- ในปัจจุบันมีผ่าคลอดแล้วปิดแผลโดยใช้กาวชนิดพิเศษ ข้อดีคือคุณแม่ไม่ต้องไปตัดไหม ไม่มีรอยเย็บ ทำให้รอยแผลสวย และไม่ต้องปิดพลาสเตอร์ปิดแผล เพราะกาวสามารถกันน้ำได้ แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการเย็บแบบไหมละลายและแบบการใช้แม็คเย็บแผลประมาณหนึ่งครับ (ก่อนจะทากาวหมอจะทำการเย็บแผลใต้ผิวหนังให้ชิดก่อนตามปกติ แล้วจึงทากาวปิดแผลที่ผิวหนัง โดยการดึงขอบแผลทั้ง 2 ข้างมาชิดกัน แล้วใช้กาวทาแผลยึดให้ขอบแผลทั้ง 2 ข้างให้แนบสนิทติดกัน การปิดแผลด้วยกาวจะไม่มีความเสี่ยงในการปริมากกว่าแผลเย็บตามปกติ ส่วนความเจ็บมากหรือน้อยนั้น ตามหลักแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับการทากาวหรือไม่ทากาว เพราะขั้นตอนการเย็บทุกอย่างยังเหมือนกัน แต่จากที่ถามคุณแม่มาหลายสิบคนที่ใช้วิธีนี้ ทุกคนล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “หลังผ่าคลอดไม่มีรู้สึกเจ็บแผลใด ๆ เลย”)
ข้อเสียของการผ่าคลอด
- ค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดจะสูงกว่าการคลอดเอง ค่าผ่าตัดที่แพทย์จะได้รับก็มีเยอะขึ้น และไม่ต้องมานั่งเฝ้าคลอดว่าจะผ่าได้เมื่อไหร่
- เสี่ยงต่ออันตรายจากการดมยาสลบหรือการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (ในปัจจุบันการผ่าตัดและการให้ยาระงับปวดในระหว่างการผ่าตัดมีความปลอดภัยมาก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือที่เรียกกว่า “บล็อกหลัง“ (Spinal block) หรือการดมยาสลบ (General anesthesia))
- แม้ในขณะผ่าตัดคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อยาชาหรือยาสลบหมดฤทธิ์คุณแม่จะรู้สึกเจ็บแผล และกว่าจะหายเจ็บก็อีกหลายวัน (บางคนก็เจ็บนานหลายสัปดาห์)
- ลูกน้อยที่คลอดโดยการผ่าตัดจะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือที่เรียกว่า “โปรไบโอติกส์” หรือจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งจะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดจะมีมากกว่าการคลอดเอง เช่น การเสียเลือดมากกว่าการคลอดปกติเกือบเท่าตัว บางรายตกเลือด แผลผ่าตัดมีการอักเสบติดเชื้อ
- มีแผลขนาดใหญ่ที่หน้าท้องและเป็นแผลที่มดลูก เพราะการผ่าคลอดจะต้องเปิดผิวหนังผ่านชั้นไขมัน ชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ชั้นเยื่อหุ้มช่องท้อง กว่าจะถึงส่วนของมดลูก จากนั้นจะต้องเปิดแผลที่มดลูกเข้าไปเพื่อเอาทารกออกมา เมื่อมีแผลที่มดลูกระบวนการหายของแผลก็จะคล้ายคลึงกับการหายของแผลในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย คือ ต้องอาศัยกระบวนการอักเสบเพื่อสร้างเนื้อเยื่อใหม่ แผลเป็นตามผิวหนังของร่างกาย ความแข็งแรงของโครงสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในบริเวณแผลก็จะไม่แข็งแรงเท่ากับบริเวณอื่น ๆ และกลายเป็นจุดอ่อนของมดลูกต่อไป
- นอกจากแผลที่มดลูกแล้ว ก็มีโอกาสเกิดพังผืดในช่องท้องได้ (Adhesion) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการหายของแผลที่เกิดจากกระบวนการอักเสบเช่นกัน ซึ่งพังผืดนี้อาจจะไปทำให้ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุช่องท้องเองมาแปะติดกับมดลูกเหมือนใยแมงมุมได้ จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการผ่าตัดคลอดครั้งต่อไป ๆ ยิ่งผ่าตัดมามากก็ยิ่งเกิดพังผืดได้มาก และไม่ใช่แค่การผ่าตัดคลอดครั้งต่อไปเท่านั้นที่มีปัญหา แต่การผ่าตัดช่องท้องด้วยเหตุจำเป็นอื่น ๆ เช่น มีเนื้องอกมดลูก ตัดมดลูก เป็นมะเร็ง หรือบาดเจ็บในช่องท้องแล้วจำเป็นต้องผ่าตัด ถ้าคุณแม่มีประวัติการผ่าคลอดมาก่อน โดยเฉพาะถ้าเคยผ่าคลอดมาแล้วหลายครั้งก็จะทำให้ความยากในการผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีกหลายระดับ
- มีระยะเวลานอนพักในโรงพยาบาลนานกว่า
- เสี่ยงต่อการเกิดมดลูกแตกในครรภ์ถัดไป (Uterine rupture) ในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดมาก่อนมากกว่าคนที่ไม่มีแผลที่มดลูก ซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดนี้จะมีประมาณ 0.5-1% ในกรณีที่แผลผ่าตัดที่มดลูกเป็นแบบแนวขวาง แต่ถ้าเป็นแผลตามยาวก็จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่านี้ เมื่อมดลูกแตกก็จะเพิ่มอัตราการตายของทารกและอัตราการตายของคุณแม่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจเพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพียงแต่มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น และส่วนมากหมอก็มักจะนัดผ่าคลอดในคนเคยผ่าคลอดมาแล้วก่อนประมาณ 38-39 สัปดาห์
เมื่อมีแผลผ่าตัดอยู่แล้วในครรภ์ถัดไปถ้าคุณแม่เกิดโชคร้ายมีรกไปเกาะในตำแหน่งที่เป็นแผลพอดี ก็ลองนึกดูครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะโดยปกติแล้วรกจะฝังตัวในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกเท่านั้น แต่ถ้าเกาะลึกกว่านั้นก็จะเรียกว่า “รกเกาะลึก” (Placenta adherens) ซึ่งจะลึกขนาดไหนนั้นก็จะมีแบ่งเป็นระดับลึกถึงกล้ามเนื้อมดลูกหรือทะลุออกมานอกมดลูก แต่ที่น่ากลัวก็คือถ้ารกมาเกาะส่วนที่เป็นแผลแล้วเกิดรกเกาะลึก หลังคลอดรกจะไม่ลอกตามปกติจะใช้มือดึงก็ไม่ได้ เพราะจะเสียเลือดมาก หมอจึงจำเป็นต้องตัดออกมาทั้งมดลูกเลย แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไปครับ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ก็มีให้เห็นได้อยู่เรื่อย ๆ เพราะในปัจจุบันมีอัตราการผ่าคลอดสูงมากขึ้นเป็น 60-90% โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน - เมื่อผ่าคลอดครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็มักจะต้องผ่าคลอดอีกเป็นส่วนใหญ่
- มีงานวิจัยที่ระบุว่าเด็กที่คลอดทางหน้าท้องโดยการผ่าคลอดจะมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนเมื่อโตขึ้นได้มากกว่าเด็กที่คลอดตามปกติอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการที่เด็กคลอดออกทางหน้าท้องจะเป็นการปิดกั้นกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้นมแม่มาช้าลงเพราะร่างกายยังไม่ได้กระตุ้นให้มีน้ำนม ต้องไปกินนมผงที่มีโมเลกุลโปรตีนและไขมันของสัตว์จึงทำให้เกิดโรคอ้วน และการที่เด็กไม่ได้คลอดเองตามธรรมชาติก็จะทำให้ขาดโปรไบโอติกส์ ซึ่งไม่ว่าจะใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ยังไงก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ 100%