ถุงน้ำดีอักเสบ ปวดท้องจะลามไปถึงหน้าท้อง เกิดจากนิ่ว

ถุงน้ำดีอักเสบ อาการปวดท้อง ปวดตามชายโครงด้านขวาร้าวไปถึงสะบักข้างขวา หายใจลึกๆปวดมาก ปวดลามไปถึงกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไข้สูง อาเจียน ปัสสาวะเหลือง ตัวเหลืองถุงน้ำดีอักเสบ โรคตับ โรคไม่ติดต่อ โรคจากนิ่ว

ถุงน้ำดี ( Gallbladder ) เป็นอวัยวะที่ช่องท้องที่มีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็กที่มีความจุประมาณ 35-50 มิลลิลิตร ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเก็บสำรองน้ำดีที่สร้างจากตับและทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร (โดยเฉพาะอาหารไขมัน) โดยจะมีโครงสร้างที่ติดต่อกับตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำดี และลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร

น้ำดี ของมนุษย์เกิดจากตับเป็นตัวสร้างน้ำดี และเก็บน้ำดีไว้ที่ถุงน้ำดี น้ำดีจะนำไปย่อยไขมันและย่อยอาหาร เมื่อน้ำดีในร่งกายลดลงจะก็ทำให้ เกิดนิ่ว ซึ่งพบว่ามีนิ่วอยู่ 2 ชนิด คือ นิ่วที่เกิดจาก cholesterol และ นิ่วที่เกิดจากเกลือ นิ่วในถุงน้ำดีสามารถหลุดและเข้าไปอุดทางเดินของน้ำดีได้ เป็นต้นเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำดีอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดของโรคถุงน้ำดีอักเสบ จะเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีและถุงน้ำดีอักเสบ โดยปัจจัยของการเกิดถุงน้ำดีอักเสบ ประกอบด้วย

  • เพศหญิง
  • การคุมกำเนิด
  • พันธุกรรม
  • เชื้อชาติ
  • ผู้สูงอายุ
  • อาหาร
  • ภาวะอ้วน
  • การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  • การกินยาลดไขมันในเลือดบางชนิด
  • คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น
  • การอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง

สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบ

ถุงน้ำดีอักเสบ ( Cholecystitis ) เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วไปอุดตันทางเดินของน้ำดี และผนังของถุงน้ำดีหนาตัว โรคถุงน้ำดีอักเสบเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี และสาเหตุที่ไม่ใช่มาจากนิ่วในถุงน้ำดี

  • สาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี เป็นกรณีที่พบได้สูงประมาณ 90-95% อาจเกิดเนื่องจากก้อนนิ่วที่ไปอุดตันท่อน้ำดีจนส่งผลให้น้ำดีไหลออกจากถุงน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ไม่ได้ ทำให้ถุงน้ำดีมีแรงดันเพิ่มขึ้นและมีการยืดขยายตัวมากขึ้นจนไปกดเบียดหลอดเลือดต่าง ๆ ที่หล่อเลี้ยงถุงน้ำดี ทำให้เยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บและเกิดการอักเสบขึ้นตามมา หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองของสารเคมีบางชนิดอันเป็นผลมาจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในถุงน้ำดี หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไล ( E.coli ) เชื้อเคล็บซิลลา ( Klebsiella ) เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), เชื้อสเตรปโตค็อกคัส  ( Streptococcus ) เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้าขาดเลือดมากขึ้นจะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อถุงน้ำดีเน่าตายหรือเกิดการแตกทะลุของถุงน้ำดี ก่อให้การเกิดติดเชื้อรุนแรงในช่องท้องได้ด้วย
  • สาเหตุที่ไม่ใช่มาจากนิ่วในถุงน้ำดี เป็นกรณีที่พบได้เพียงส่วนน้อยประมาณ 5-10% โดยอาจเกิดจากถุงน้ำดีติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากเนื้องอกของถุงน้ำดีหรือของท่อน้ำดี เกิดจากท่อน้ำดีตีบตันจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ไม่ใช่จากนิ่ว เช่น โรคไทฟอยด์ ถุงน้ำดีได้รับอุบัติเหตุและเกิดการฉีกขาด นอกจากนี้ ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่มีการทำลายของเนื้อเยื่อจำนวนมาก ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น

อาการถุงน้ำดีอักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ปวดตามชายโครงด้านขวาและปวดร้าวไปถึงสะบักข้างขวา เวลาหายใจเข้าลึกๆ จะปวดมากขึ้น หลังจากนั้นอาการปวดท้องจะลามไปที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง เมื่อกดจะเจ็บ มีไข้สูง คลื่นไส้ และอาเจียน ปัสสาวะเหลือง ตัวเหลือง

การรักษาอาการถุงน้ำดีอักเสบ

แพทย์จะให้น้ำเกลือ และยาแก้ปวด งดอาหารเพื่อให้ถุงน้ำดีได้พักการทำงาน และผ่าตัดถุงน้ำดี ผู้ป่วยเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบ ต้องระวังโรคแทรกซ้อน จากถุงน้ำดีอักเสบ โรคแทรกซ้อนที่พบ เช่น  ภาวะโลหิตเป็นพิษ ถุงน้ำดีเป็นหนอง ถุงน้ำดีเน่า ตับอ่อนอักเสบ ช่องท้องอักเสบ

ป้องกันโรคถุงน้ำดีอักเสบ

สำหรับการป้องกันถุงน้ำดีอักเสบนั้น ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเด็ดขาด แต่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงได้ โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ของการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • จำกัดการกินอาหารไขมัน
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคเบาหวาน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อจะลดน้ำหนัก ควรต้องค่อยๆลดช้าๆ

โรคถุงน้ำดีอักเสบ สาเหตุเกิดจากนิ่ว ทำให้ปวดท้อง ปวดตามชายโครงด้านขวาและปวดร้าวไปถึงสะบักข้างขวา เวลาหายใจเข้าลึกๆจะปวดมากขึ้น ปวดท้องจะลามไปที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะเหลือง ตัวเหลือง ที่ถุงน้ำดี การให้ยาปฏิชีวนะเป็นวิธีรักษาโรคถุงน้ำดีอักเสบ หากอาการหนักจำเป็นต้องตัดถุงน้ำดีทิ้งเพื่อรักษาชีวิต

Last Updated on March 25, 2024