กาฬโรค ติดเชื้อแบคทีเรียจากการโดนหมัดหนูกัด ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม อาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เลือดออกตามปากจมูก ผู้ป่วยอาจนิ้วเน่าได้
กาฬโรค หรือ มรณะดำ เป็นโรคติดต่อที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากในช่วงเวลาหนึ่ง มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนีย เปสติส ( Yersinia pestis ) โดยมีหนูและหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถแพร่เชื้อโรคโดยทางอากาศ การสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง หรือ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
กาฬโรคในประเทศไทย
มีข้อมูลจากพงศาวดารอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 กล่าวว่า กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.1893 ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1350 มีการระบาดใหญ่ของ Black Death ในยุโรป และจากข้อมูลพบว่ามีการระบาดของกาฬโรคในจีน ระยะเวลาต่อมา พบว่า กาฬโรคจากเมืองจีนยังได้มีการแพร่กระจายเข้ามาในไทยอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สำหรับรายงานการระบาดของกาฬโรคอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย มีรายงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 ว่า พบการระบาดเกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้าที่จังหวัดธนบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากหนูที่มีเชื้อกาฬโรคที่ติดมาจากเรือสินค้าจากเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จากนั้นมีการระบาดจากธนบุรีเข้ามาฝั่งพระนคร แต่ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย 300 คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย จากนั้นไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยจนปัจจุบันนี้
การติดเชื้อกาฬโรค
สำหรับการติดเชื้อกาฬโรค นั้นมีหลายสาเหตุ ซึ่งเกิดจากปัจจัย 4 ปัจจัย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ถูกหมัดที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้กัด ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงคือคนที่อยู่ใกล้ชิดสัตว์ที่มีหมัด เช่น ในเขตชนบท หรือในเขตที่มีหนูมาก การออกค่ายอยู่ป่า การไปปิกนิกตามทุ่งหญ้า ป่าเขา หรือเป็นสัตวแพทย์ เป็นต้น
- การสัมผัสเนื้อเยื่อหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ จากสัตว์ที่ป่วยเป็นกาฬโรค เช่น การแล่เนื้อหรือลอกหนังสัตว์
- การหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำลายของสัตว์ที่ป่วยเป็นกาฬโรคปอดเข้าไป โดยเฉพาะจากแมว
- ติดต่อระหว่างคนสู่คน ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดเข้าไป ทั้งนี้ ในทางกลับกันสัตว์ก็สามารถติดกาฬโรคจากคนได้ด้วยวิธีการเดียวกัน
อาการของกาฬโรค
สำหรับการแสดงอาการของโรค หลังจากการถูกหมัดหนูกัดแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ เชื้อโรคจะเจริญเติบโตยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยจะเริ่มแสดงอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการของโรคสามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ อาการจากต่อมน้ำเหลืองอักเสย อาการจากติดเชื้อในกระแสเลือด และ อาการจากปอดอักเสบ โดยรายละเอียด ดังนี้
- อาการกาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวม แดง กดเจ็บ ซึ่งอาจปวดมากจนขยับแขนหรือขาไม่ได้ ตำแหน่งที่มักพบจะเป็นบริเวณขาหนีบ หรือ รักแร้
- อาการกาฬโรคชนิดติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นลักษณะอาการที่ลุกลามจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยแสดงอาการไข้สูง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เลือดออกในอวัยวะต่างๆ สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 1 สัปดาห์
- อาการกาฬโรคปอดบวม เป็นอาการที่จะเกิดหลังจากมีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการปอดบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษา อาจเสียชีวิตภายใน 3 วัน
การรักษากาฬโรค
สำหรับแนวทางการรักษาโรคกาฬโรคในปัจจุบัน สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะอย่างแรงประมาณ 7 – 10 วัน แต่แนวทางการรักษาต้องป้องกันการแพร่เชื้อโรคอย่างเคร่งครัด บุคลากรที่ทำการรักษาต้องมีความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด ด้านการป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงมือ ปิดปากและจมูก ควรทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลือง และหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ภาวะโรคแทรกซ้อนจากกาฬโรค
สำหรับโรคแทรกซ้อนของกาฬโรค มีอาการต่างๆที่ต้องระวัง เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้าเน่าจากการขาดเลือด เกิดอาการช็อกอย่างรุนแรง อาการปอดบวม อาการหายใจล้มเหลว อาโลหิตเป็นพิษ และ อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การป้องกันกาฬโรค
แนวทางการป้องกันกาฬโรค ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่สามารถทำให้ติดเชื้อโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ดูแลสุขอนามัยให้สะอาด กำจัดแหล่งอาหารของหนู โดยสรุปแล้วแนวทางการป้องกันกาฬโรค มีดังนี้
- หลักการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของกาฬโรคที่สำคัญคือ การควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขอนามัย รวมทั้งให้ความรู้ด้านสุขศึกษากับประชาชน และการเฝ้าระวังการเกิดขึ้นของโรค
- การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง ไม่ให้มีกองขยะที่จะเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์หนูได้ อาคารต่างๆต้องมีระบบป้องกันการเข้าถึงของหนูและการกำจัดหนูที่ถูกวิธี ตามบ้านเรือนก็ควรเก็บอาหารให้มิดชิด ไม่ให้หนูเข้าถึง รอบๆบ้านไม่ควรมีกองขยะ กองไม้ และควรเก็บอาหารของสัตว์เลี้ยงและกองฟืนให้มิดชิด
- หากพบซากหนู หรือสัตว์อื่นๆตาย ควรกำจัดให้ถูกวิธี โดยการสวมถุงมือยาง สวมหน้ากากปิดปากปิดจมูกก่อนการสัมผัสซากสัตว์นั้นๆ และอาจใช้วิธีฝังกลบซึ่งต้องลึกพอ ห้ามทิ้งลงถังขยะธรรมดาทั่วไป ท่อระบายน้ำ หรือคูคลองต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยว กับสัตว์ต่างๆก็ต้องใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันการถูกหมัดกัด สวมถุงมือและหน้ากากอนามัยเสมอ
- สัตว์ที่เลี้ยงไว้ ได้แก่ หมา แมว กระต่าย หนูพันธุ์ต่างๆ กระรอก กระแต เป็นต้น ควรกำจัดหมัดให้อย่างสม่ำเสมอ
- ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่าชนิดต่างๆ หากไปเที่ยวป่า เที่ยวเขา ควรป้องกันตัวเองจากการถูกหมัดกัด เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าแขน/ขายาว
- หากคนหรือสัตว์เลี้ยงในบ้านไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคจะต้อง กินยาปฏิชีวนะป้องกัน (โดยการปรึกษาแพทย์)
- ในอดีตมีวัคซีนสำหรับป้องกันกาฬโรค แต่ป้องกันได้เฉพาะการเกิดกาฬโรคของต่อมน้ำเหลือง และปัจจุบันได้หยุดการผลิตไปแล้ว ขณะนี้กำลังมีการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่ป้องกันโรคได้ดีขึ้น แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เพื่อให้ใช้ในประชากรทั่วๆไป โดยจำกัดการใช้เฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อกาฬโรคเท่านั้น รวมถึงในกรณีที่เกิดสงครามที่มีการใช้อาวุธเชื้อโรคจากเชื้อกาฬโรค