โรคคอตีบ เจ็บคอ หายใจยาก ติดเชื้อที่คอ รักษาอย่างไร

โรคคอตีบ Diphtheria ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินหายใจ อาการร้ายแรง ทำให้อักเสบที่เยื่อบุจมูก คอ และ หลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร่างกายอ่อนแรงได้

โรคคอตีบ โรคหูคจมูก โรคติดเชื้อ โรคลำคอ

โรคคอตีบ ( Diphtheria ) เป็นโรคเกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Chorynebac terium diphtheriae ปัจจุบันเป็นโรคพบได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่เป็นทารกอายุ 2 เดือนอย่างทั่วถึง แต่ยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศในเขตร้อนที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย โรคคอตีบจัดเป็นโรครุนแรงเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับการได้รับยาต้านสารพิษและยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 วันหลังมีอาการ ซึ่งช่วยลดอัตราเสียชีวิตลงเหลือประมาณ 1% แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า หรือเมื่อผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี หรืออายุสูงตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเกิดผลข้างเคียงแล้ว อัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20%

สาเหตุของการเกิดโรคคอตีบ

สำหรับต้นเหตุของโรคคอตีบเกิดจาก เชื้อแบคทีเรียคอตีบ ชื่อว่า โครินแบคทีเรียดิฟทีเรีย ( Corynebacterium diphtheriae ) เชื้อคอตีบ หลังจากนั้นเชื้อชนิดนี้จะปล่อยสารพิษ (Exotoxin) ออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเยื่อบุคอหอย กล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาท โรคคอตีบสามารถติดต่อได้จากการรับเชื้อทางปากหรือหายใจ จากผู้ที่มีเชื้อโรค เช่น การไอ การจาม การสัมผัสน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย หลังจากได้รับเชื้อ 2-10 วันผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ

อาการของผู้ป่วยโรคคอตีบ  

ผู้ป่วยจะมี น้ำมูก เจ็บคอ มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว พบว่ามีอาการต่อมน้ำเหลืองโต หายใจและกลืนน้ำลายลำบาก จะมีแผลที่ผิวหนัง มีอาการอักเสบที่แผล เจ็บ และมีหนองเขียวที่แผล หากไม่รักษาให้ทันท่วงที จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ คือ การอักเสบที่กล้ามหัวใจ จะทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลว  เกิดภาวะน้ำท่วมปอด การเต้นของหัวใจจะผิดปกติ หรืออาจจะส่งผลถึงเส้นประสาทที่สมอง อาจเป็นอัมพาต เกิดปากเบี้ยว ตาเข มือเท้าชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถสรุบอาการของโรคคอตีบได้ดังนี้

  • มีไข้มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส (Celsius) อาจรู้สึกหนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย เจ็บคอมาก กิน/ดื่มแล้วเจ็บคอมากจึงกิน/ดื่มได้น้อย
  • หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  • คออาจบวมและไอมีเสียงดังเหมือนสุนัขเห่า
  • มีแผ่นเยื่อในจมูก ต่อมทอนซิล ลำคอ และกล่องเสียง ก่ออาการค่อยๆมีเสียงแหบลงเรื่อยๆ และน้ำมูกอาจมีเลือดปน/น้ำมูกเป็นเลือด
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวมโตซึ่งโตได้ทั้งสองข้าง
  • หลังจากมีอาการทางเดินหายใจแล้ว อาจพบมีแผลบริเวณผิวหนังพบได้ทั่วตัวแต่พบบ่อยบริเวณแขนและขา แผลมีลักษณะเหมือนแผลทั่วไป แต่เมื่อตรวจเชื้อจะพบว่าเกิด จากเชื้อโรคคอตีบ

ระยะของโรคคอตีบ

สำหรับอาการของโรคคอตีบนั้นสามารถแบ่งได้ 2 ระยะ ตามลักษณะของอาการของโรค คือ คอตีบระยะฟักตัวของโรค และ คอตีบระยะติดต่อ ซึงรายละเอียดของโรคคอตีบแต่ละระยะ มีดังนี้

  • คอตีบระยะฟักตัวของโรค  ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 1-7 วัน (โดยเฉลี่ย 3 วัน) แต่อาจนานได้ถึง 10 วัน และผู้ป่วยมักมีอาการอยู่นาน 4-6 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในบางกรณีผู้ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้ ซึ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ (Carrier) มักจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน
  • คอตีบระยะติดต่อ ผู้ที่มีอาการของโรคคอตีบจะมีเชื้ออยู่ในจมูกและลำคอได้นาน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วเชื้อจะหมดไปภายใน 1 สัปดาห์

การรักษาโรคคอตีบ

แนวทางการรักษาโรคคอตีบ สามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น penicillin หรือ Erythromycin ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาเพื่อฆ่าเชื้อโรค กับแพทย์ ประมาณ 2 สัปดาห์ ผ่าตัดเอาแผ่นฝ้าขาวออกเพื่อไม่ให้อุดหลอดลม พักผ่อนให้มากๆ

การป้องกันโรคคอตีบ

แนวทางการป้องกันการติดเชื้อโรคคอตีบ สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ สรุปแนวทางการป้องกันการเกิดโรคคอตีบได้ ดังนี้

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆซึ่งรวมทั้งเชื้อโรคคอตีบและลดการติดโรคที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์
  • ใช้หน้ากากอนามัย
  • การร่วมมือกันในชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสุขอนามัยที่ดี
  • โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) หรือฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine)
  • ผู้ที่สัมผัสโรคหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการป้องกัน ซึ่งแพทย์จะเพาะเชื้อจากคอหอย ติดตามอาการเป็นเวลา 7 วัน และให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษา แต่ให้รับประทานป้องกันเพียง 7 วัน และจะฉีดวัคซีนป้องกันให้ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือฉีดไม่ครบ แต่ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาแล้วและเข็มสุดท้ายได้รับมานานเกิน 5 ปี แพทย์จะฉีดวัคซีนกระตุ้นให้อีกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วย

โรคคอตีบ ( Diphtheria ) ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ อาการร้ายแรง ทำให้อักเสบที่เยื่อบุจมูก คอ และ หลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอักเสบ และ อ่อนแรง ได้ การรักษาโรคคอตีบ การป้องกันโรคคอตีบ

Last Updated on March 17, 2021