ชะอม สมุนไพร บำรุงเลือด บำรุงสายตา เป็นยาระบายอ่อนๆ

ชะอม ( Acacia pennata ) สมุนไพร สรรพคุณของชะอม แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงกระดูกและฟัน บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ยาระบาย ลดไข้ พืชมีกลิ่นฉุน นิยมนำมาทำอาหารชะอม ผักสวนครัว สมุนไพร สรรพคุณของชะอม

ชะอม ภาษาอังกฤษ เรียก Acacia pennata ชื่อทางวิทยาศาสตร์ชะอม คือ Acacia Pennata (L.) Willd.Subsp.InsuavisNielsen ชื่ออื่นๆของชะอม เช่น ผักหละ ผักลำ ผ้าห้า ผักป่า ผักแก่ ผักขา ต้นชะอม เป็นไม้พุ่ม ขนาดไม่สูง ก้านของชะอมจะมีหนามแหลม ใบมีขนาดเล็ก คล้ายใบกระถิน ใบอ่อนของชะอมมีกลิ่นฉุน ปลายใบแหลม ดอกของชะอม มีสีขาว ดอกขนาดเล็ก ผลของชะอมเป็นฝัก

ลักษณะของต้นชะอม

ต้นชะอม เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ สามารถขยายพันธุ์โดยการปักชำ ลักษณะของต้นชะอม มีดังนี้

  • ลำต้นและกิ่งก้านของชะอม จะมีหนามแหลม
  • ใบของชะอม ส่วนลักษณะของใบชะอมเป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน คล้ายรูปรีประมาณ 13-28 คู่ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็น และแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน
  • ดอกชะอม มีขนาดเล็กออกตามซอกใบ มีสีขาวถึงขาวนวล

คุณค่าทางโภชนาการของชะอม

นักโภชนาการได้สำรวจคุณค่าทางอาหารของชะอม โดยพบว่า ยอดชะอม 100 กรัม สามารถให้พลังงานกับร่างกาย 57 กิโลแคลอรี่ มีเส้นใยอาหารอยู่ 5 กรัม แคลแซียม 58 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.25 มิลลิกรัม ในอาซิน 1 มิลลิกรัม วิตามินซี 58 มิลลิกรัม

สรรพคุณของชะอม

การนำชะอมมาใช้ประโยชน์ สามารถนำมาใช้ได้ทั้ง ใบ และ ราก รายละเอียด ดังนี้

  • ใบชะอม สามารถช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ ใช้ลดไข้
  • รากชะอม นำมาต้มรับประทาน จะช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ลดกรดในกระเพาะอาหาร จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
  • ยอดชะอม มีคุณค่าทางอาหาร เช่น แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี ธาตุเหล็ก สามารถใช้ บำรุงเลือด บำรุงกระดูก บำรุงสายตา ได้

โทษของชะอม

  1. สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมีบุตรอ่อน ไม่ควรรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้
  2. ผักชะอม สำหรับคุณแม่ลูกอ่อน จะแพ้กลิ่นของผักชนิดนี้อย่างมาก ดังนั้นควรอยู่ห่าง ๆ
  3. การรับประทานผักชะอมในหน้าฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ (ปกตินิยมรับประทานผักชะอมหน้าร้อน)
  4. กรดยูริกเป็นตัวการที่ทำให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเกิดมาจากสารพิวรีน (Purine) โดยผักชะอมนั้นก็มีสารพิวรีนในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด หากเป็นมากก็ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ปวดกระดูกได้
  5. อาจพบเชื้อก่อโรคอย่างซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ เมื่อเรานำผักชะอมที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้มาประกอบอาหารโดยไม่ล้างทำความสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือไม่นำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อชนิดนี้ได้ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อชนิดอาจจะมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเขียว หรือถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน มีไข้ เป็นต้น

Last Updated on March 17, 2021